หลับยากเรื่องใหญ่! วัย 18-40 ปี เจอวิกฤตนอนไม่หลับหนุนสินค้าช่วยให้นอนหลับดีขึ้นมาแรง

238
0
Share:
หลับยากเรื่องใหญ่! วัย 18-40 ปี เจอ วิกฤตนอนไม่หลับ หนุน สินค้า ช่วยให้ นอนหลับ ดีขึ้นมาแรง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในวิถีชีวิตที่เร่งรีบและมีการแข่งขันสูง ทำให้เกิดภาวะความเครียดและวิตกกังวล สิ่งที่ตามมา คือ การนอนไม่หลับ ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพกาย และจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของประชากรลดลง “Sleep Economy” หรือ “Sleep-Health Economy” จึงเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง โดยปัจจุบันมีการพัฒนาสินค้าและบริการที่ช่วยให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น และมีการคาดการณ์มูลค่า Sleep Economy หรือเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนของโลกว่า ในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตเป็น 585,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 432,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการการนอนหลับ อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

สำหรับข้อมูลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยร้อยละ 30 หรือประมาณ 21 ล้านคน นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เช่นเดียวกับหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา สิงค์โปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น ที่มีชั่วโมงการนอนใกล้เคียงกัน โดยจากปัญหาการนอน “ตลาดของคนนอนไม่หลับ” จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการที่ช่วยในเรื่องการนอน โดยในปี 2562 อุตสาหกรรมที่ช่วยเรื่องการนอนไม่หลับในตลาดโลก มีมูลค่า 432,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องนอน มูลค่า 194,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 45 กลุ่มเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน มูลค่า 106,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 25 ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และบริการทางแพทย์ มูลค่า 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 13 กลุ่มเทคโนโลยีการนอน บริการ แอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ และอื่น ๆ มูลค่า 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 10 และกลุ่มชุดนอน มูลค่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 7

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับ “ตลาดของคนนอนไม่หลับ” ในประเทศไทย เดิมอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันขยายตัวไปสู่กลุ่มคนทำงานและวัยรุ่น เช่นเดียวกับทิศทางของโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 18-40 ปี ที่กำลังประสบปัญหานอนไม่หลับ หรือนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับ และเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยสามารถนำผลิตภัณฑ์ของไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (ครีมที่มีกลิ่นและส่วนผสมช่วยให้ผ่อนคลาย) กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือเครื่องดื่มและสารสกัดต่าง ๆ เช่น วิตามินบี แมกนีเซียม เมลาโทนิน กาบา และแอลธีอะนีน นำมาผสมผสานกับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับ ให้มีรสและกลิ่นที่แปลกใหม่ เช่น ใบบัวบก ขิง มะนาว มะลิ ฟ้าทะลายโจร และมะเฟือง

นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรที่ช่วยในการรักษาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือบรรเทาความเครียด เช่น สารสกัดจากใบชา และบัวบก ที่มีสารแอลธีอะนีน ใช้เป็นยาในศาสตร์อายุรเวท และการแพทย์แผนจีน ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล น้ำมันรำข้าว และจมูกข้าว มีสารกาบา ช่วยผ่อนคลายความกังวล ทำให้นอนหลับ ฟักทอง มีสารเบต้าแคโรทีน ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine: NE) ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า และจากผลการศึกษาทางคลินิกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าสารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) ในเหง้าขมิ้นชันมีสรรพคุณช่วยลดความเครียดได้ร้อยละ 62.5 ของจำนวนผู้รับทดสอบ

ทั้งนี้ Grand View Research บริษัทวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ (2021) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียดมีการขยายตัวต่อเนื่องทั่วโลก มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดสมุนไพรที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วถึงร้อยละ 9.2 ในช่วงระยะเวลา 8 ปี (ปี 2564 – 2571) สอดคล้องกับข้อมูลของ iiMedia Research (2021) บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยตลาดจีน ที่ระบุว่า ในช่วงปี 2559 – 2564 ขนาดตลาด Sleep Economy ในจีนมีมูลค่าจาก 261,630 ล้านหยวน (ประมาณ 39,245 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเพิ่มเป็น 417,320 ล้านหยวน (ประมาณ 62,598 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดจีนมีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการนอนเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ช่วยนอนหลับ อาหารเสริม เจลลี่นอนหลับ เครื่องนอน และที่อุดหูผ้าปิดตา เป็นต้น

“ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกำลังเติบโต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและผ่อนคลายความเครียดที่ใช้สารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งผู้บริโภคให้ความสนใจและมั่นใจในความปลอดภัยจากการใช้สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร มากกว่าการใช้ยาหรือสารสกัดจากการสังเคราะห์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงเป็นโอกาสของไทยต่อตลาด Sleep Economy ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทย” นายพูนพงษ์กล่าว