เปิดร้านขายอาหารเจอศึกหนัก มี 35% ที่อยู่รอดหลังเปิดมา 3 ปีกำไรยังฟื้นเหมือนก่อนโควิด

345
0
Share:
เปิด ร้านอาหาร เจอศึกหนัก มี 35% ที่อยู่รอดหลังเปิดมา 3 ปีกำไรยังฟื้นเหมือนก่อนโควิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย พบว่า มูลค่าตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 435,000 ล้านบาท หรือเติบโต 7.1% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารในไทย ประกอบด้วย ร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) ร้านอาหารให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant) และร้านอาหารริมถนน หรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน แต่ไม่นับรวมร้านอาหารบางประเภท เช่น ร้านขายเครื่องดื่ม ผับบาร์ รถเข็นขายอาหาร ฯลฯ

ธุรกิจร้านอาหารปัจจุบันกพลังเผชิญปัจจัยหลากหลายอย่าง ได้แก่ กำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ส่งผลต่อพฤติกรรมให้ปรับลดการใช้จ่ายด้านอาหาร หลายองค์กร เช่น บริษัท สำนักงาน หรือห้างร้าน ยังใช้รูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน หรือ Hybrid work รวมถึงพฤติกรรมและความชอบของผู้บริโภคอาหารที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น การหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ การเลือกเข้าร้านอาหารที่มีชื่อเสียงและถูกแนะนำบอกต่อผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่สำคัญ ยังพบว่าเป็นผลจากร้านอาหารในประเทศไทยมีจำนวนมาก ความหลากหลายของร้านอาหาร ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

เมื่อมองไปช่วงที่เหลือของปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารมีโจทย์สำคัญที่ต้องเผชิญ อาทิ การแข่งขันมีความรุนแรงในทุกเซ็กเมนต์และระดับราคา โดยกลุ่มที่จะเผชิญกับโจทย์ที่ยากลำบากจะเป็นกลุ่ม Casual Dining เนื่องจากจำนวนผู้เล่นที่มีความหนาแน่นสูงในเซ็กเมนต์ ขณะที่กลุ่ม Quick Service Restaurant เผชิญกับโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

แพลตฟอร์มส่งอาหารและเครื่องดื่มชื่อดัง ไลน์ แมน วงใน LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม–มิถุนายน พบว่า จำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มเปิดใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 13.6% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา หรือเปิดใหม่ประมาณกว่า 100,000 ร้าน ซึ่งรวมทุกประเภทของร้านอาหารทั้งมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน

ที่น่าสนใจ คือ ร้านอาหารที่สามารถยืนระยะอยู่รอดมากกว่า 3 ปีหลังการเปิดร้านขาย มีเพียง 35% จากจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งหมด

ทั้งนี้ ต้นทุนยังเป็นโจทย์สำคัญของธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารที่อาจผันผวนจากผลกระทบของเอลนีโญ ค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าการตลาด โดยต้นทุนวัตถุดิบอาหารมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 35% จากต้นทุนของร้านอาหารทั้งหมด