BEM ไม่กังวลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ยืนยันมีเงินพร้อมลงทุนกว่า 1 แสนล้าน

788
0
Share:
BEM ไม่กังวลประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ยืนยันมีเงินพร้อมลงทุนกว่า 1 แสนล้าน

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่าในการประมูลคัดเลือกการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ล่าสุดทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทฯ ผ่านเกณฑ์ และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐ -78,287.95 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอด้านการเงิน และรอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เรียกเจรจาต่อไป

มั่นใจว่าข้อเสนอของบริษัทฯ เป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนด ทั้งในส่วนของข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ ก็สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม. ได้

โดยบริษัทฯ พร้อมที่จะเริ่มงานได้ทันที โดยมี บมจ.ช.การช่าง เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก อีกทั้ง มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์) ได้ภายใน 6 ปี ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ประเมินวงเงินการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยจะจัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบัน หรือออกหุ้นกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเพิ่มทุน คาดการณ์ว่า รฟม.จะมีการเรียกเจรจากับบริษัทฯ เพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุดในการดำเนินโครงการนี้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการเจรจา หลังจากนั้น บริษัทฯ จะเริ่มงานก่อสร้างทันทีเพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามแผน อีกทั้งจะเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถ เพื่อเริ่มให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในปี 2568