TDRI เสนอแผนค่ารถไฟฟ้า 30 บาทตลอดสาย

831
0
Share:

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 15 บาทตลอดสายว่า ก่อนจะกำหนดราคาค่าโดยสาร จำเป็นต้องศึกษาจากองค์ประกอบรอบด้าน เช่น ฐานรายได้ต่อเดือนของผู้ใช้บริการ และรายละเอียดของโครงข่ายเส้นทาง ตัวอย่างเช่น ต้นทุนค่าเดินทางในระบบรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายต่อเดือนที่สิงคโปร์ ค่าเดินทางจะอยู่ที่ 4-5%
.
แต่ในส่วนของคนไทยนั้นข้อมูลเบื้องต้นค่าโดยสารเดินทางไป-กลับต่อวันของรถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 100 บาท เมื่อวางเป็นโจทย์แล้ว ค่อยมาคิดต่อว่า ถ้าค่าเฉลี่ยของรถไฟฟ้าเดินทางต่อเที่ยวอยู่ที่ 30 บาท หรือไปกลับวันละไม่เกิน 60 บาท ประชาชนที่มีฐานเงินเดือนประมาณเดือนละ 18,000 บาท มีต้นทุนค่าโดยสารต่อเดือนประมาณ 1,200 บาท จึงจะถือเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้บริการจะพอแบกรับไหว
.
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่ต้องนำไปสู่การชดเชยให้แก่เอกชนผู้ถือสัมปทาน ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอยู่ในพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป
.
ส่วนการกำหนดกรอบค่าโดยสารไม่ว่าจะเป็น 15 บาทต่อเที่ยว หรือ 30 บาทต่อเที่ยว ในส่วนสัมปทานเดินรถไฟฟ้าที่ภาครัฐกับเอกชนมีในปัจจุบันจะต้องจ่ายชดเชยมากแค่ไหนนั้น กรณีกำหนดค่าโดยสารต่อเที่ยว 15 บาทนั้น คิดง่ายๆ ว่าหากคำนวณจากผู้โดยสาร เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอสวันละ 8 แสนคน รถไฟฟ้าใต้ดิน 3 แสนคน รถไฟฟ้าสีม่วงอีก 1 แสนคน แอร์พอร์ตลิงก์ 1 แสนคน ไปคำนวณกับค่าโดยสารเฉลี่ยของผู้โดยสารปัจจุบันคนละ 30 บาท เห็นชัดเจนว่าจะต้องไปชดเชยให้แก่การเดินทางของประชาชนเฉลี่ยคนละ 15 บาทต่อวัน ส่วนนี้ถือว่าเป็นภาระค่อนข้างหนัก
.
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องศึกษา เช่น การนำระบบตั๋วพิเศษ เช่น ตั๋วรายสัปดาห์ และตั๋วเดือน มาเป็นกลไกช่วยลดภาระให้แก่ประชาชน ซึ่งกรมการขนส่งทางรางกำลังศึกษาว่าการชดเชยต้นทุนค่าเดินทาง ต้องใช้เงินภาษีท้องถิ่นหรือมีการตั้งกองทุนแบบใดจึงจะเหมาะสม แต่เชื่อว่าการปรับลดค่าโดยสารจะทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากขึ้น