พันธ์ุโอไมครอนฉุดความเชื่อมั่นขายปลีกซึมยาวปีนี้ ขอรัฐอัดมาตรการปลุกกำลังซื้ออีก

399
0
Share:
เศรษฐกิจ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม 2564 โดยนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยอมรับว่าผลการสำรวจรอบนี้ไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากการแพร่ของโอมิครอนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และเกรงว่าภาครัฐจะกลับมาประกาศมาตรการการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG) แต่ก็เกิดจากความถี่ในการจับจ่าย ที่เพิ่มขึ้นเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ คือในช่วงเทศกาลปีใหม่ และยอดซื้อต่อบิล  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนว่ายังต้องการแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องการยกเลิกกิจกรรมข้ามปีของบางพื้นที่  ที่ส่งผลให้การจับจ่ายปลายปีต้องชะงัก

สำหรับข้อสรุปผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม 2564 ประกอบด้วยดังนี้

1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก เดือนธันวาคมอยู่ที่ 68.4 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 6 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพฤศจิกายนที่ 62.1 สะท้อนถึงมู้ดของการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลง 4 จุดจากระดับ 69.7 ในเดือนพฤศจิกายน มาที่ 65.1 เดือนธันวาคม

2.ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน จากมาตรการผ่อนปรนความเข้มงวดและประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศ มากขึ้น

3.ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก พบว่า เพิ่มขึ้นทุกประเภทร้านค้า ยกเว้นร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า จากบรรยากาศการจับจ่ายช้อปปิ้ง ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมาย เนื่องจากผู้บริโภครอความหวังจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ควรเกิดในปลายปี 2564 แต่เลื่อนเป็นต้นปี 2565 แทน

นอกจากนี้ การประเมินกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ โอไมครอนจากมุมมองผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนธันวาคม ที่สำรวจระหว่างวันที่   17-24 ธันวาคม 2564 ดังนี้

1.ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา โดยมาจากอันดับ 1 มาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายภาครัฐ การจัดโปรโมชั่นของร้านค้า และการขายผ่านออนไลน์

2.ความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอไมครอน มีดังนี้ กังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ลูกค้างดการทำกิจกรรมนอกบ้าน และกังวลต่อมาตรการที่อาจต้องล็อคดาวน์

3.แผนการรองรับหากมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน พบว่า 63% ขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น,40% ลดค่าใช้จ่าย ลดการจ้างงาน,30% ดำเนินธุรกิจตามปกติ เว้นแต่ภาครัฐสั่งให้ปิด

4.ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 58% เพิ่มการลดหย่อนภาษีและลดภาระค่าใช้จ่าย,55% เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและต่อเนื่อง,43% ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน