วัคซีนโควิด-19 ปลอดภัยจริงหรือ? ทำไมต้องฉีด !!

Share:

     ฉีดวัคซีนโควิดแล้วตาย!! ฉีดแล้วมีผลข้างเคียง !!กลายเป็นประเด็นที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์จนทำให้คนที่ได้รับสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนก่อนตัดสินใจไม่ฉีดวัคซีนเพราะกลัวความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนี้กับตัวเองจนทำให้แพทย์หลายท่านออกมาร้องขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน

                               ที่มา : www.pixabay.com/    

     “….ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมีตัวเลขประมาณ 4 คนผลข้างเคียง หรือผลไม่พึงประสงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ติดโควิด-19 ตัวเลขของโลกในวันนี้ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คนซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมากมายเหลือเกินผมขอความกรุณาในวันนี้ การฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อคนที่ท่านรักเพราะท่านจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนเหล่านั้นถ้าเราฉีดกันได้เยอะพอและทันเวลาเรากำลังจะช่วยประเทศเพราะโควิด-19 จะอยู่ไม่ได้ถ้าคนในประเทศไทยมีภูมิคุ้มกัน”

      นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     จากที่คุณหมอได้กล่าวไว้โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนถือว่าจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19ที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้แต่ความหวาดวิตกของคนในสังคมจากการเสพข่าวสารออนไลน์ยังคงไม่คลายลงวันนี้Young @Heart show จึงมีวิธีการรับมือกับข่าวสารเหล่านี้ด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือจาก‘คู่มือวัคซีนสู้โควิดฉบับประชาชน’โดยกระทรวงสาธารณสุข,สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ,สถาบันวัคซีน,สสส.และเครือข่ายองค์กรด้านสุขภาพที่จะทำให้คุณเข้าใจวัคซีนเตรียมพร้อมร่างกายก่อนฉีดและการสังเกตอาการหลังฉีดเพื่อความปลอดภัยห่างไกลจากโควิด -19

ที่มา : คู่มือ วัคซีนสู้โควิด (ฉบับประชาชน)


     วัคซีนคืออะไร ?วัคซีนก็คือสารชีววัตถุที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค โดยวัคซีนอาจจะผลิตจากเชื้อโรคที่ถูกทำให้ฤทธิ์อ่อน เชื้อโรคที่ตายแล้ว โปรตีนสังเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายกับบางส่วนของเชื้อโรค สารพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อโรค และการตัดต่อพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคเข้าไปในไวรัสชนิดอื่นก็แล้วแต่ผู้ผลิตจะวิจัยและพัฒนา

     ที่มา : www.pixabay.com/ 

     ปัจจุบันวัคซีนโรคโควิด-19 มีถึง 13ชนิด ซึ่งแบ่งเป็น 2ประเภทคือ 1.วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเช่นวัคซีนของบริษัทAstraZeneca,วัคซีนของบริษัทPizer-BioNTech, วัคซีนของบริษัทModerna,วัคซีนของบริษัทJohnson & Johnson,วัคซีนของสถาบันGamaleya,และวัคซีนของบริษัทCanSinoBio 2.วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตใช้กับวัคซีนหลายชนิดมาก่อนเช่นวัคซีนของบริษัทSinovac,บริษัทSinopharm-Beijing,บริษัทSinopharm-Wuhan,บริษัทBharatBiotech,สถาบันVector Institute,บริษัทAnhui Zhifei Longcom, สถาบันChumakov Center

     วัคซีนโควิด-19 ทำอะไรกับร่างกายเรา ?หลังจากได้รับวัคซีน ระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มทํางาน เม็ดเลือดขาวจะเข้าไปจับเชื้อโรค ที่บุกรุกเข้ามา และทําการจดจําไว้ เม็ดเลือดขาวผลิตสารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นหากภายหลังคุณได้รับเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งได้จดจําเชื้อโรคนั้น ไว้แล้ว จะสามารถหาวิธีต่อสู้กับ เชื้อโรคนั้นได้อย่างรวดเร็วก่อนที่คุณจะป่วย ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอและอยู่นานโดยเว้นระยะระหว่างเข็มแตกต่างกัน มักจะเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ซึ่งจําเป็นต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในระยะห่างที่เหมาะสม ถึงจะมั่นใจว่า ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน เพียงพอป้องกันโรคได้

ที่มา : www.pixabay.com/    

     ใครควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ?การจัดสรรวัคซีนในระยะเริ่มต้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่รักษาระบบสุขภาพ คือ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าในการควบคุมโรค 2. ประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังประจําตัวเจ็ดโรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน (มีน้ําหนักเกิน 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) โรคหลอดเลือดสมอง ทางเดินหายใจเรื้อรัง ปอดอุดกั้น และโรคไตวายเรื้อรัง

     ใครที่ไม่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ?เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นมาในเวลาจํากัด ทําให้ยังขาดข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งในประชากรกลุ่มนี้ ควรรับวัคซีนเมื่อพิจารณาร่วมกับแพทย์ที่ดูแลแล้ว ว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และใครก็ตามที่มีไข้สูงในวันนัดหมายฉีดวัคซีน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนแต่หากมีไข้ต่ำๆหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ควรเลื่อนฉีดวัคซีน สําหรับผู้มีโรคประจําตัว มีประวัติภูมิแพ้ หรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรแจ้งบุคลากรการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนและขอคําแนะนําที่เหมาะสม

ที่มา : www.pixabay.com/    

     อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องรู้! เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ มักไม่รุนแรงและหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน เช่น อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีด ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจทําให้รู้สึกไม่สบายตัวบ้าง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง อาการเหล่านี้มักเป็นสัญญาณแสดงว่า ร่างกายกําลังถูกวัคซีนกระตุ้นให้ สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต คนทั่วไปมักเข้าใจผิดและเรียก “อาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน” ว่า “อาการแพ้วัคซีน” ซึ่งสําหรับทางการแพทย์นั้น อาการแพ้วัคซีนเกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน มากกว่าปกติ ซึ่งนับได้ว่าอาการแพ้เป็นส่วนหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน

     อาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากการได้รับวัคซีนพบน้อยกว่า 5 ในหนึ่งล้านเหตุการณ์โดยอาการแพ้วัคซีนที่พบได้แก่ การมีผื่นขึ้น ลมพิษ คัน บวมที่ใบหน้า ปากหรือลําคอ หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ ปวดท้อง มักพบภายหลังการฉีดวัคซีนในช่วง 30นาทีแรกจึงต้องพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาล

     7 ข้อแนะนำดังนี้เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน
1.สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2.วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์
3.ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
4.หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
5.ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็นแต่ให้ห่าง6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
6.การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือนและ
7.ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

   ที่มา : www.pixabay.com/  

 ต้องรู้ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้!!จึงเป็นความจําเป็นที่ทุกคนไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่จะต้องคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19ทั้งการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่างและหมั่นล้างมือซึ่งจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆได้อีกด้วย

     จากข้อมูลเรื่องวัคซีนที่นำมาฝากกันในวันนี้หวังว่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้คลายความวิตกกังวล และเข้าใจกลไกการทำงานของวัคซีนกันมากขึ้นนะคะในวันที่ข่าวสารต่างๆแพร่สะพัดเร็ว เราต้องต่อสู้กับข้อสงสัยด้วยข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ค่ะ โดยคุณสามารถอ่าน‘คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน’ฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/2Rto5n7 และติดตามข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด

Young@Heart Show