5 วิธีรับมือน้ำท่วมต้องรู้!!!

Share:

          สถานการณ์น้ำท่วมในหลายๆพื้นที่ของประเทศไทยในปี 2564นี้ มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก เช่นในจังหวัดชัยภูมิ เจอวิกฤติน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปี ,อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสุโขทัย น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 10 ปี รวมถึงจังหวัดลพบุรีที่ยังมีน้ำท่วมขังสูงในอีกหลายอำเภอ ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับน้ำท่วมรวมถึงการอพยพออกจากพื้นที่ของผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่น้ำท่วมและพื้นที่ใกล้เคียง วันนี้ Young@Heart Show มี 5 วิธีเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วมมาฝากกันค่ะ

ที่มา : pexels.com

1. ติดตามข่าวและสถานการณ์น้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอ อย่าใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ ต้องใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยหน่วยงานราชการหรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ เช่น การพยากรณ์อากาศจากกรมอุตินิยมวิทยา www.tmd.go.th ,การรับฟังการแจ้งประกาศเตือนภัยกับศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ www.ndwc.go.th และการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราทราบระยะเวลาที่จะเกิดอุทกภัยได้ถูกต้องเพื่อเตรียมการอพยพหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน

 

ที่มา : pexels.com

2. การเตรียมความพร้อม
– ควรเตรียมน้ำสะอาดและอาหารเช่น อาหารกระป๋อง, อาหารแห้ง
– ยาสามัญที่จําเป็นต่างๆ เช่น ยาลดไข้ ยาหยอดตา ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ และยาประจําตัวสําหรับผู้ที่มีโรคประจําตัว
– อุปกรณ์ที่จําเป็น เช่น อุปกรณ์การสื่อสารพร้อมแบตเตอรี่สํารอง อุปกรณ์ชูชีพ ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงขยะ หรือถุงพลาสติกให้เพียงพอให้สามารถช่วยตนเองได้ 5 – 7 วัน
– การนำรถยนต์และพาหนะไปเก็บไว้ในที่น้ำท่วมไม่ถึง รวบรวมของใช้จำเป็นไว้ในที่ปลอดภัย
– สับคัทเอาต์ของบ้านเพื่อตัดไฟ ถอดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ไฟดูด
– เสริมคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันบ้านเรือน

 

ที่มา : pexels.com

3. สังเกตสิ่งบอกเหตุทางธรรมชาติ จะช่วยทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมและเตรียมตัวได้ในเบื้องต้นก่อนที่น้ำจะมาโดยสามารถสังเกตได้จาก การที่มีฝนตกหนักมากเกิน 100 มิลลิเมตรต่อวัน น้ำในแม่น้ำลำธารเอ่อล้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งสัญญาณการเกิดภัย เช่นมด หรือสัตว์ในบริเวณนั้นเริ่มมีการเคลื่อนย้าย

 

ที่มา : pexels.com

4. ศึกษาเส้นทางอพยพ และสถานที่ปลอดภัย ควรซักซ้อมคนในครอบครัวให้พร้อม หรือร่วมกิจกรรมการฝึกซ้อมแผนป้อนกันภัยของชุมชน รวมถึงศึกษาแผนปฏิบัติในกรณีฉุกเฉินของชุมชน สัญญาณต่างๆ การติดต่อ การเตือนภัย เส้นทางการอพยพ และสถานที่ตั้งที่พักฉุกเฉินหรือศูนย์อพยพ

 

ที่มา : pexels.com

5. รู้ข้อมูลเครือข่ายเตือนภัย และการช่วยเหลือ เตรียมช่องทางติดต่อกับหน่วยงานในท้องถิ่น ชุมชน สําหรับความต้องการ ช่วยเหลือกรณีพิเศษ เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรังผู้พิการ และเบอร์โทรศัพท์สายด่วน เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเตือนภัย เช่น สายด่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 192 , สายด่วนบริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 , สายด่วนศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ 1199 , สายด่วนอุบัติเหตุทางน้ำ 1196 ,เว็บไซต์กรมป้อกันและบรรเทาสาธรณภัยwww.disaster.go.th , เว็บไซต์กรมอุตินิยมวิทยา www.tmd.go.th , เว็บไซต์กรมทรัพยากรน้ำwww.dwr.go.th แอปพลิเคชัน Water4Thai แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำรายวัน , แอปพลิเคชันThaiWater เช็คสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ และแอปพลิเคชัน NDWC เตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว เป็นต้น

          และนี้ก็คือ 5 วิธีเบื้องต้นในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเกิดน้ำท่วมที่เราควรทราบเพื่อช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ลดการเกิดอันตรายของตัวเราเองและคนรอบข้าง นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสติอยู่เสมอ ไม่ตื่นตระหนก และไม่ประมาท จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นกับภัยทางธรรมชาติในครั้งนี้ไปได้ค่ะ

 

 

ที่มาข้อมูล : กรมทรัพยากรน้ำ , สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรวมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข

Young@Heart Show