ราคา น้ำตาล โลกพุ่ง ทำตลาดในประเทศป่วน ขึ้นราคาขายปลีกกดดันปัญหากักตุนปะทุ

1262
0
Share:

ราคา น้ำตาล โลกพุ่ง ทำตลาดในประเทศป่วน ขึ้นราคาขายปลีกกดดันปัญหากักตุนปะทุ

ราคาน้ำตาลโลกพุ่ง ทำตลาดในประเทศป่วน ขึ้นราคาขายปลีกกดดันปัญหากักตุนปะทุ พาณิชย์ต้องทิ้งสมอดึงน้ำตาลทรายเข้าบัญชีสินค้าควบคุมตามเดิม สกัดราคาแพงห้ามขายเกินกฎหมายกำหนด คลี่คลายด้านราคา แต่จะเพิ่มปมลักลอบส่งออกอีกหรือไม่?

จำได้หรือไม่ว่าน้ำตาลทรายที่เราซื้อกันครั้งล่าสุด ราคาอยู่ที่เท่าไร? หลายคนอาจจะตอบไม่ได้ เพราะราคาน้ำตาลทรายตามท้องตลาดอาจจะไม่ได้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดได้บ่อยนัก และอาจจะไม่ได้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคเท่ากับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

มีรายงานข่าวว่า โรงงานน้ำตาลมีการปรับราคาไปแล้วถึง 4 รอบ 4–5 บาทต่อกิโลกรัม มาเป็น 23–24 บาท โดยอ้างว่าเพื่อสอดคล้องกับราคาตลาดโลกและเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นตามไปเป็น 27–28 บาทต่อกิโลกรัม

นายสมชาย พรรัตนเจริญ อดีตนายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยว่าในปี 2566 ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายได้ทยอยปรับราคาน้ำตาลทราบขึ้นมาแล้วประมาณ 4 ครั้ง รวม 100 บาทต่อกระสอบ (50 กิโลกรัม) ครั้งล่าสุดขึ้นมาอีก 2 บาทต่อถุง (1 กิโลกรัม) ซึ่งแต่ละครั้งไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ร้านค้าย่อยต้องปรับราคาขึ้นตาม

และเมื่อย้อนเส้นทางการปรับขึ้นราคาน้ำตาล ก็ปรากฏว่าเกิดจากการที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่เห็นว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายที่สูงขึ้นมาก จากราคาอ้อยที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งคาดว่าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 ผลผลิตอ้อยอาจเหลือเพียง 75–80 ล้านตัน หรือลดลงประมาณ 10% จากปี 65/66 รวมถึงมีความต้องการทำให้ราคาน้ำตาลของไทยเท่ากับราคาตลาดโลกที่กิโลกรัมละ 27 บาท

สอน. ก็เลยเสนอเรื่องให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ โดยจะปรับราคาน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท เป็นราคากิโลกรัมละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 เป็นกิโลกรัมละ 24 บาท หรือขึ้นมาทันที กิโลกรัมละ 4 บาท

ซึ่งพอราคาหน้าโรงงานขึ้น ก็จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกปรับราคาขึ้นตามไปด้วย อยู่ที่กิโลกรัมละ 28 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จำหน่ายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 29 บาท นับว่าเป็นการขึ้นราคาน้ำตาลทรายรวดเดียวที่สูงมากๆ และอาจจะกระทบไปยังอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาล หรือแม้แต่ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ผู้ประกอบการรายย่อยที่จำเป็นต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลักด้วย ส่วนผู้บริโภคก็จะต้องซื้อน้ำตาลแพงขึ้น ซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น

เรื่องนี้เกิดชุลมุนวุ่นวาย เพราะสุดท้ายแล้ว กอน. ได้ออกประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 ทำให้ราคาน้ำตาลขึ้นพรวด แน่นอนว่าเสียงบ่นจากผู้บริโภครู้ถึงหูนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงได้หาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ทันที

ขณะเดียวกัน ร้านขนมไทยเจ้าดังในนครราชสีมา ได้ประกาศขึ้นราคาขนมถึง 50% เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยนางสาวสุภรทิพย์ ส่งเสริม เจ้าของร้านขนมไทยไพจิตต์ ต.ในเมือง อ.เมืองนคราชสีมา จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังจากที่วัตถุดิบหลายอย่างมีราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำตาล และยังมีวัตถุดิบอื่นๆ ที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นร้านจะปรับราคาขึ้น เพราะร้านไม่สามารถแบกรับราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นได้จริงๆ

ร้านขนมไทยไพจิตต์เปิดขายมานานกว่า 50 ปีเริ่มตั้งแต่รุ่นแม่มาถึงปัจจุบัน โดยตั้งราคาขายกล่องละ 20 บาท ซึ่งเป็นความตั้งใจของแม่ที่ต้องการให้ชาวบ้านได้กินขนมไทยในราคาถูก จึงยืนราคาขายกล่องละ 20 บาทมากว่า 20 ปี แต่จากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทางร้านต้องปรับราคาของขนมทุกชนิด จากเดิมเริ่มต้นที่ 20 บาท ก็จะขายเริ่มต้นตั้งแต่ 30 บาท ถ้าขนมที่มีส่วนประกอบของไข่ก็จะเพิ่มเป็นกล่องละ 35 บาท

อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่นาน “รัฐมนตรีภูมิธรรม” ก็ได้เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 จนได้ข้อสรุปว่าจะมีการประกาศให้สินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน โดย กกร. ได้กำหนดราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาว ราคา 19 บาท/กิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ราคา 20 บาท/กิโลกรัม และราคาจำหน่ายปลีกในท้องที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวธรรมดา ราคา 24 บาท/กิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ราคา 25 บาท/กิโลกรัม

ก่อนหน้านี้ มติ ครม. ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ลงวันที่ 15 มกราคม 2561 เพื่อ “ยกเลิก” การกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศเป็นไปตามกลไกราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีการ “ปล่อยลอยตัว” ราคาน้ำตาลทรายมาแล้วตั้งแต่ปี 61 แต่ล่าสุดก็จำเป็นต้องนำกลับเข้าไปอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมอีกครั้ง

ซึ่งหากย้อนกลับไปยาวกว่านั้น ถึงสาเหตุที่ไทยต้องถอดน้ำตาลออกจากสินค้าควบคุมเมื่อปี 61 ก็เพราะบราซิลได้แจ้งกล่าวหาไทยไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จนนำมาสู่การเจรจาและมีการปรับโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งเกิดการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในปี 2561 โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ข้อมูลว่าตอนนั้น “บราซิลกล่าวหาว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลในประเทศ ทำให้ไทยสามารถไปดัมป์ราคาส่งออก เลยแจ้ง WTO ว่าจะฟ้องไทยที่ทำผิดกติกาการค้าของ WTO ทำให้เกิดการเจรจาและนำมาสู่ข้อตกลงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ เช่น เลิกคุมราคาน้ำตาล เลิกระบบโควตา และมีการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ใน 3–4 ประเด็น ซึ่งทำให้บราซิลชะลอหยุดฟ้องมาเฝ้าดูเราก่อน”

อาจารย์วิโรจน์ ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐนำเอาน้ำตาลกลับเข้าบัญชีสินค้าควบคุมด้วยว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี เพราะหลังจากที่ทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์ที่ควรได้แล้ว รัฐกลับจะต้องใช้เงินภาษีมหาศาลมายกราคาอ้อย ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผิดกติกาการค้าโลก ในขณะที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนเพียงเล็กน้อย

อาจารย์วิโรจน์ ยังกังวลด้วยว่าเมื่อราคาในประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ก็ยิ่งจูงใจให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลออกนอกประเทศมากขึ้น รวมทั้งอาจเกิดกองทัพมดที่ยังขนได้ครั้งละไม่เกิน 1 ตัน ก็จะทำให้น้ำตาลในประเทศค่อยๆ ตึงตัวและขาดแคลนในที่สุด และยังมองว่าการกลับไปควบคุมราคา ยังขัดกับนโยบายรัฐที่กำหนดภาษีความหวานเป็นขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน การเบรกไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาลเท่ากับลงโทษชาวไร่อ้อย และในภาพรวมเมื่อต้องหาเงินมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพิ่มก็ต้องใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมาก จึงมองว่าผลลัพธ์ที่ได้น้อยกว่าเสีย

ขณะที่ฝั่งชาวไร่อ้อยเองก็สะท้อนถึงปัญหาต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายที่ปรับสูงขึ้น จากราคาวัสดุทางการเกษตรปุ๋ย รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่ทำให้อ้อยมีปริมาณลดลง ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะนำมาสู่การปรับขึ้นราคาน้ำตาล อีกทั้งประเทศไทย ผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก แต่พี่น้องชาวไร่อ้อยมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก การขยับขึ้นของราคาน้ำตาลทราย 4 บาท/กิโลกรัม ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ได้ถูกล้มกระดานลงอย่างน่าตกใจ

ขณะที่เพจของโรงงานน้ำตาลทรายได้นำเสนอข้อมูล เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างราคาน้ำตาลในประเทศต่างๆ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Globalproductprices.com เดือนกันยายน 2566 ตัวอย่างเช่น ฮ่องกง เกิน 100 บาท/กิโลกรัม อันดับ 1, นอร์เวย์ เกิน 90 บาท/กิโลกรัม อันดับ 2, เกาหลีใต้ เกิน 60 บาท/กิโลกรัม อันดับ 14, เวียดนาม เกิน 45 บาท/กิโลกรัม อันดับ 45, มาเลเซีย เกิน 37 บาท/กิโลกรัม อันดับ 68, บราซิล เกิน 32 บาท/กิโลกรัม อันดับ 72 เป็นต้น

สำหรับราคาน้ำตาลทรายในประเทศไทย ได้ถูกคำนวณไว้ที่ราคา 21 บาท/กิโลกรัม อยู่ที่ลำดับ 80 เป็นรองอันดับสุดท้ายจากการสำรวจ 81 ประเทศ

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรับมือต่อไปนั่นคือ การดูแลปัญหาการลักลอบส่งออก ที่จะกลายมาเป็นปัญหาขาดแคลนในภายหลังได้พอกัน รวมทั้งการดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างไรให้พวกเขาอยู่ได้ เพราะอย่าลืมว่าเกษตรกรก็เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตร ต่อเนื่องไปจนถึงภาคส่งออก นอกเหนือจากผู้บริโภค ที่รัฐต้องชั่งน้ำหนักให้พอดีและเหมาะสม เป็นธรรมมากที่สุด…

BTimes