ตั้งรัฐบาลช้าเศรษฐกิจยิ่งช้ำ เบิกจ่ายงบเป็นหมันส่อทำนักลงทุนหนี เอกชนโอดเศรษฐกิจไทยรอไม่ได้ แต่จับขั้วรัฐบาลสูตรไหนถึงจะหาทางออกเจอ?

1329
0
Share:

ตั้งรัฐบาลช้าเศรษฐกิจยิ่งช้ำ เบิกจ่ายงบเป็นหมันส่อทำนักลงทุนหนี เอกชนโอด เศรษฐกิจ ไทยรอไม่ได้ แต่จับขั้วรัฐบาลสูตรไหนถึงจะหาทางออกเจอ? โหวตนายก พิธา สูตรจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ผลโหวตเลือกนายกรัฐมตนตรีออกมา ปรากฏว่า “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถผ่านด่าน ส.ว. สุดหินได้ โดยมีมติโหวตคว่ำด้วยคะแนน เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง โดย “พิธา” ได้คะแนนเห็นชอบไม่เกิน 375 เสียง จึงไม่สามารถคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

เอฟเฟคที่เกิดขึ้นอย่างน่าแปลกใจ นั่นคือ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ที่ดีดขึ้นไปอย่างแรงตั้งแต่ช่วงเช้าของวันถัดมาภายหลังผลโหวตสุดเศร้าของก้าวไกลอออก และปิดสิ้นวันปรับตัวขึ้นร้อนแรงกว่า +23.90 จุด ที่ 1,517.92 จุด มูลค่าซื้อขาย 43,640 ล้านบาท สาเหตุสำคัญนั่นก็เพราะนักลงทุนมองแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ให้รัฐสภาโหวต หรือแม้แต่การคาดว่าจะมีการจับขั้วทางการเมืองใหม่

อย่างไรก็ตามในก้าวต่อไปของ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ยังคงยืนยันว่าจะเดินหน้าเสนอชื่อนายพิธา โหวตนายกฯ อีกรอบ โดยจะหารือกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล วางกลยุทธ์ต่อว่าจะเป็นไปอย่างไร

แต่ขณะนี้สปอร์ตไลท์ได้เปลี่ยนไปฉายที่พรรคเพื่อไทย ที่หลายกูรูมองว่าเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายคุมเกม และยังเป็นที่จับจ้องว่า “เพื่อไทย” จะเล่นบทเจ้าสาวแสนดี ไม่นอกใจเจ้าบ่าว หนีพิธีเข้าหอไปหรือไม่? เพราะดูแล้วการที่จะดัน “พิธา” ให้ ส.ว. ยอมเทคะแนนโหวตให้ในรอบ 2 นั้นคงเป็นไปได้ยาก จากที่บรรดา ส.ว. ส่วนใหญ่ได้ปลดล็อกท่าทีก่อนโหวตออกมาแล้ว ว่าในสูตรสมการของ ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่มีพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน ด้วยเงื่อนไขนโยบายแก้ ม.112 ที่ยังเป็นไม้หลักปักไว้คั่น ส.ว. อยู่ ซึ่งก้าวไกลเองก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะยอมผ่อน เหมือนจะยอมหัก ไม่ยอมงอ ยืนยันที่จะยังชู ม.112 ต่อไป

บรรดากูรูการเมือง กูรูลงทุน ต่างก็วิเคราะห์ ทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลออกมาหลายแนวทาง หลายสูตร มีทั้ง 1.รัฐบาลก้าวไกลและนายกฯ พิธา 2.รัฐบาลก้าวไกลและนายกฯ ไม่ใช่พิธา 3.ผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน และ 4.จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

*สูตรแรก ที่มองว่าพรรคแกนนำยังเป็นก้าวไกลที่จะพาจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้การรวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค มีอยู่ 312 เสียง แต่ต้องหักเสียงของนายวันนอร์ออกไป 1 เสียง (เพราะเป็นประธานสภาฯ งดออกเสียง) ก็คงเหลือ 311 เสียง ส่วนทาง ส.ว. มี 250 เสียง ล่าสุด ส.ว. เรณู ลาออก คงเหลือ 249 เสียง ทำให้เสียงสองสภา รวมเป็น 749 ดังนั้น หากจะให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้ 375 เสียง จำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 64 เสียง ซึ่งก็เป็นเสียงจาก ส.ว ส่วนใหญ่

**สูตรที่สอง หากเสียงสนับสนุน นายพิธา ไม่เพียงพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้พรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นชิงเก้าอี้นายกฯ แทน ซึ่งมี 3 รายชื่อคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติศิริ โดยสูตรนี้อาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะ 8 พรรคยังคงเหนียวแน่น และยังคงต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 64 เสียงเช่นกัน

***สูตรที่สาม คือพรรคเพื่อไทยจะพลิกขั้วจับมือกับ “188 เสียง” ที่เป็นขั้วเดิม เพราะจะทำให้มีเสียงถึง 329 เสียง ต้องการเสียง ส.ว. เพียง 49 เสียง จะได้เกิน 376 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเงื่อนไขของ ส.ว. ที่สะท้อนจากวันโหวตครั้งแรกคือ ไม่เอา“ก้าวไกล”

****สูตรที่สี่ รัฐบาลเสียงข้างน้อย คือพรรคขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียงเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเข้าแข่งขัน และเป็นไปได้ว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. มากพอ ซึ่งสูตรนี้ต้องหารเสียง ส.ว.อีก 187 เสียง แต่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ปัญหาในอนาคตคือ การผ่านกฎหมายสำคัญในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะเสียงฝ่ายค้านที่เป็นก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคร่วมอื่นๆ จะมีมากกว่าสามารถที่จะคว่ำกฎหมายได้ ทำให้ที่ผ่านมาทางพรรคขั้วรัฐบาลเดิมออกมาปฏิเสธว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะจะเกิดปัญหาแน่นอน

ในแง่ของเกมการเมืองไม่ว่าจะเป็นกี่ฉากทัศน์ กี่สูตรจับขั้ว ย่อมมีผลในแง่ของความเชื่อมั่น การตัดสินใจของนักลงทุน ล่าสุด นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยพูดถึงประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า เขาอาจมองต่างคนอื่นๆ ว่าการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ทำให้เห็นความชัดเจนไปเปราะหนึ่งว่าพรรคก้าวไกลอาจไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องไปมองนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย ที่ถ้าได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็มีโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ แทนนายพิธา ซึ่งหากเป็นนายเศรษฐา ส่วนตัวมองว่ามีความเหมาะสม เพราะเป็นอดีตนักธุรกิจ และมีวุฒิภาวะ รวมถึงเห็นแนวโน้มที่จะมีการยืดหยุ่นนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ซึ่งนายธนิตมองถึงความแตกต่างระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย คือ ก้าวไกล มองในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก แต่เพื่อไทย มองในเรื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยค่อนข้างอ่อนแอ หากพรรคการเมืองต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงตามอุดมการณ์ คงไม่ได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ตอนนี้เรื่องหลักคือ รัฐบาลต้องเข้ามาแก้บาดแผลทางด้านเศรษฐกิจ

ในด้านของผลกระทบระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากเสียงโอดโอยจากบรรดาเอกชน ที่การตั้งรัฐบาลยิ่งช้าออกไปจะยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน การจะเริ่มธุรกิจใหม่หรือการสานต่อโครงการลงทุนทั้งรัฐเอกชนอาจจะไม่ต่อเนื่อง จะส่งแรงกระแทกไปยังเศรษฐกิจที่กำลังฟื้น ขณะเดียวกันแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนที่คัดค้านการเมินเฉยของ ส.ว. นำไปสู่การชุมนุม และถ้ายืดเยื้อรุนแรงอาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัย ก็พาลจะงดการเดินทางมาเที่ยว

ในมุมมองของนายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมาเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะจากคะแนนเสียงผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าคนมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง แต่หากมีการชุมนุมคงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย สารพัดปัจจัยตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลก สงคราม มากระทั่งจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะกระทบต่อการใช้งบประมาณปี 2567 ไม่ดีต่อการลงทุน เพราะไม่มีรัฐบาลตัวจริงมาเป็นแกนหลักในการตัดสินใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและปลีกไทย ที่มองว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเอาใครมาเป็นนายกฯ ก็ตาม ต้องรีบตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เพราะเศรษฐกิจและความเจริญของประเทศมันรอไม่ได้ ขณะนี้กำลังซื้อในตลาดฝืดทั้งประเทศ เพราะคนไม่มีเงินจะจับจ่ายใช้สอย และเมื่อตั้งรัฐบาลใหม่แล้วต้องเร่งปล่อยมาตรการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจทันที

ขณะที่แบงก์ชาติ ระบุว่า สถานการร์การเมืองบ้านเราขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูง ประเมินยากว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลจะจัดตั้งได้เมื่อไร แต่สิ่งที่ชัดคือความล่าช้าของการเบิกจ่ายภาครัฐปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ยังไม่สามารถมีโครงการใหม่ๆ ได้

อย่างไรแล้วการเมืองไทยก็เป็นอะไรที่คาดเดายาก ตอนนี้คงทำได้เพียงลุ้นให้การโหวตเลือกนายกฯ รอบต่อไจะมีบทสรุปที่ดี เพราะยิ่งช้าเศรษฐกิจยิ่งเสีย เมื่อทุกอย่างชัดเจน ผ่านภาวะสุญญากาศทางการเมืองนี้ได้แล้ว ประเทศคงจะเดินหน้าต่อไปได้ ขอให้อดทนรออีกอึดใจเดียว… บีบมือ ตบไหล่ เป็นกำลังใจกันนะพี่น้องชาวไทย…

BTimes