กสิกรคาดหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้มีแนวโน้มพุ่ง 88 – 90 %ต่อจีดีพี

801
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2/2563 จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สะท้อนว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงขยับขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี ครั้งใหม่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี สูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อจีดีพี
.
นอกจากนี้ เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563 เร่งขึ้นจากที่เพิ่มเพียง 1.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2563 โดยทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนภาพ 2 ด้านซึ่งแตกต่างกัน เพราะในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่ประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
.
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2563 ยังคงมุมมองเดิมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง
.
ขณะที่ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง จะช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้