พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ม.ค. 64 ติดลบ 0.34%

541
0
Share:

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. 64 ลดลง 0.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวต่อเนื่อง 0.27% จากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่ยังต่ำกว่าปีก่อน การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ FT ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนถึงเดือนเม.ย.นี้
.
รวมทั้ง ราคาข้าวสารเจ้า และ ข้าวสารเหนียวที่ยังลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ตามปริมาณผลผลิตที่กลับเข้าสู่ปกติ และ ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเหมือนปีก่อน ประกอบกับ ความต้องการของตลาดต่างประเทศยังทรงตัว สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวตามกลไกการตลาดของผู้ประกอบการ
.
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และ เครื่องประกอบอาหารยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และ น้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.21%
.
สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก และ การระบาดระลอกใหม่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้งส่งผลต่อการใช้จ่าย และ การผลิตในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ และอุปทานทั้งยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราการใช้กำลังการผลิต และ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวลดลง
.
อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้วัดสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออก อัตราการว่างงาน และ รายได้เกษตรกร ประกอบกับ พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐหลายหน่วย รวมทั้งแนวโน้มการรักษาด้วยวัคซีนเริ่มเห็นผลในหลายประเทศ ทำให้สถานการณ์ในช่วงต่อไปมีโอกาสปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่าย และ เงินเฟ้อให้กลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า
.
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนม.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2 จากระดับ 46.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 39.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.3 และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 สาเหตุมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ และ มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่ารอบแรก
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ประกอบกับ มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง และ ครอบคลุมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนอาจจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป
.
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนก.พ. 64 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับ ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
.
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ยังมีแนวโน้มหดตัว กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 64 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม และ ต่อเนื่อง