สภาพัฒน์ปัดตอบมุมมองแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฝ้าระวังหนี้กู้ซื้อรถ หนี้สหกรณ์

189
0
Share:
สภาพัฒน์ ปัดตอบมุมมองแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฝ้าระวัง หนี้ กู้ซื้อรถ หนี้สหกรณ์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาส 2 พบว่า หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ทรงตัวอยู่ที่ 3.6% เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงเล็กน้อยเท่านั้น มาอยู่ที่ 90.6% จากเดิมในไตรมาสที่ 1 ปีนี้อยู่ที่ 91.4% นอกจากนี้ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

สภาพัฒน์ เปิดเผยต่อไปว่า หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยที่ต้องให้ความสำคัญ เริ่มจากหนี้เสียและความเสี่ยงในการเป็นหนี้ของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 30.3% ทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส

ภาวะกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ เนื่องจากหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ถือเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ในปี 65 มูลค่าเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์รวม 940,000 ล้านบาท

ด้านสถานการณ์แรงงานในไทย พบว่า การว่างงานมีทิศทางดีขึ้น โดยมีผู้ว่างงาน 420,000 คน คิดเป็น 1.06% โดยภาครัฐมีอัตราว่างงานสูงสุดที่ 1.54% สำหรับแนวทางที่ต้องให้ความสำคัญต่อไปในด้านแรงงาน คือการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ภาคเอกชนต้องมีมาตรการจูงใจให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาครัฐอาจใช้โอกาสนี้ให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป การดึงศักยภาพของแรงงานคืนถิ่น การส่งเสริมให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม เช่น ประกันสังคม มาตรา 39 หรือ 40 กองทุนการออมแห่งชาติที่มีหลักประกันในระยะยาว และการขยายบทบาทการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น

ทั้งนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั้น มองว่าจะต้องพิจารณาในรายละเอียด วิธีการ รวมถึงงบประมาณและภาระทางการคลัง ซึ่งยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ในตอนนี้