แง้มงบปี 67 ล่าช้า 6 เดือน เรียก 4 หน่วยงานรัฐเข้ารื้อจัดงบปี 67 รับรัฐบาลใหม่

256
0
Share:
แง้ม งบประมาณ ปี 67 ล่าช้า 6 เดือน เรียก 4 หน่วยงานรัฐเข้ารื้อจัดงบปี 67 รับ รัฐบาลใหม่

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าสำนักงบประมาณคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเริ่มบริหารประเทศช่วงเดือนสิงหาคม สำนักงบประมาณจะประสานกับกับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อเริ่มขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำกรอบงบประมาณปี 2567 ใหม่ทั้งหมดร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ เพื่อให้ได้ตัวเลขกรอบการจัดทำงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่ได้ให้ความสำคัญ

คาดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมประมาณ 6 เดือนซึ่งสำนักงบประมาณได้เตรียมการจัดทำงบประมาณไปพลางก่อนซึ่งมีวงเงินเบิกจ่ายได้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทสำหรับการเบิกจ่ายในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้

สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ 2567 ใหม่นั้น หากมีการจัดสวัสดิการด้วยงบประมาณจำนวนมากอาจจะกระทบกับกรอบงบประมาณเพื่อการลงทุนที่ตาม พ.ร.บ.งบประมาณกำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด ก่อนหน้านี้ ปีงบประมาณ 2567 จัดงบดังกล่าวที่ 670,000 ล้านบาท หากมีการจัดสรรงบฯลงทุนต่ำกว่า 20% ต้องมีการจัดสรรงบประมาณทดแทนเพื่อไปทำโครงการอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับการลงทุนของภาครัฐซึ่งถือว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้มีงบฯลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า งบลงทุนฯที่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีถือว่าน้อย เราควรจะมีการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซึ่งเป็นงบประมาณในส่วนที่กรรมาธิการงบประมาณให้ความสำคัญ จึงควรมีงบฯลงทุนไม่น้อยกว่า 20% ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณที่มีอยู่นั้น ก็คงไม่สามารถเพิ่มได้มาก เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มวงเงินจาก 3.1 ล้านล้านบาทมาเป็น 3.3 ล้านล้านบาทแล้ว ในการจัดทำงบประมาณใหม่ หากจะเพิ่มงบประมาณให้เพิ่มขึ้นอีกก็เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

สำนักงบประมาณพยายามจะปรับลดงบประมาณ และจัดลำดับความสำคัญซึ่งในที่สุดเหลืออยู่ประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ยืนยันว่าส่วนที่เหลือนี้เป็นรายการใช้จ่ายสำคัญที่อาจทำให้การตัดงบประมาณมากกว่านี้ทำได้ลำบาก สาเหตุจากส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นงบประจำเรื่องเงือนเดือน และค่าจ้างบุคลากร ค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งที่ทำสัญญาผูกพันต่อเนื่องแล้วคงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ดังนั้น ในส่วนโครงการใหม่ต้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวนด้วย