6 ค้าปลีกไทยติด 1 ใน 10 ของอาเซียน

1704
0
Share:

นางสาว ปฐมาภรณ์ นิธิชัย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่บทวิจัยเรื่อง “หุ้นค้าปลีกไทยอยู่อันดับไหนในอาเซียนว่า ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ไม่เพียงการขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเดิม แต่ต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ของผู้บริโภคมากขึ้น
.
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ในด้านการจัดการรูปแบบสาขาและสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี big data analytic เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละบุคคล รวมถึงการพัฒนา e-commerce และบริการขนส่งสินค้า ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 และมีการจ้างงาน 1.7 แสนคนในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561
.
ธุรกิจค้าปลีกไทยไม่ได้เติบโตเฉพาะในประเทศ ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยในกลุ่มค้าปลีกขยายธุรกิจในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน และมีแผนที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
.
สำหรับในอาเซียน บริษัทมีรูปแบบการขยายธุรกิจทั้งการเปิดสาขาใหม่เอง และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น เช่น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดสาขา BigC ในเวียดนาม และลาว บมจ.โรบินสัน (ROBINS) เปิดสาขาโรบินสันในเวียดนาม บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เปิดสาขาในกัมพูชา และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นขยายสาขาในลาว และเมียนมา บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดสาขาแม็คโครในกัมพูชา และ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดสาขาโฮมโปรในมาเลเซีย นอกจากนี้หลายบริษัทยังมีสาขาหรือมีแผนขยายสาขานอกภูมิภาคอาเซียน เช่น อินเดีย
.
จากศักยภาพในการเติบโตดังกล่าวส่งผลให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีกของไทย 6 บริษัทติด 10 อันดับหุ้นค้าปลีกอาเซียน 1 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุด
– โดยอันดับ 1 บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนทั้งด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 24,316 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 15,742 ล้านเหรียญสหรัฐ
– อันดับ 2 บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 7,394 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 1,906 ล้านเหรียญสหรัฐ
– อันดับ 3 บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 6,369 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 4,833 ล้านเหรียญสหรัฐ
– อันดับ 4 บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่5,282 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 5,943 ล้านเหรียญสหรัฐ
– ส่วน บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) อยู่ในอันดับ 7 ด้วย มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 2,376 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่786 ล้านเหรียญ
– และ บมจ.โรบินสัน (ROBINS) อยู่อันดับ 10 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 1,989 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 946 ล้านเหรียญ
.
ซึ่งธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง