YOUNG@HEART SHOW : รู้ทันโรค “น้ำกัดเท้า” ภัยร้ายช่วงหน้าฝน!

Share:

          ช่วงหน้าฝนแบบนี้ต้องระวังโรคน้ำกัดเท้าโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่โรคนี้จะพบในนักกีฬา และคนที่เท้าต้องเปียกอยู่ตลอดเวลาค่ะ ถึงจะเป็นโรคผิวหนังที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็สร้างความรำคาญอยู่ไม่น้อย  วันนี้เราจะมารู้จักโรคน้ำกัดเท้ากันนะคะ ไปกันเลย~~~

 

 

สาเหตุของโรคน้ำกัดเท้า

          เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่อาศัยและเติบโตในผิวหนังของเท้า หรือเรียกว่าโรค Athlete’s foot เพราะว่าจะพบบ่อยในนักกีฬาค่ะ ทางการแพทย์เรียกว่า โรคกลากที่เท้า สาเหตุใหญ่ก็คือเท้าเปียกและอับชื้นตลอดเวลา คนที่มีเหงื่อออกเท้าเยอะ ใส่รองเท้าไม่ระบายอากาศก็จะมีโอกาสเสี่ยงกว่าค่ะ

 

Athlete's foot, โรคน้ำกัดเท้า, โรคกลากที่เท้า

ภาพจาก pexels.com

 

อาการของโรคน้ำกัดเท้า

          อาการจะเริ่มจากนิ้วเท้า ตอนแรกจะเริ่มคันก่อนยังไม่มีผื่น ต่อมาจะเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง บางครั้งอาจพบขุยขาวหรือผิวหนังเปื่อย ผิวแตกเป็นสะเก็ด มีกลิ่นเหม็นรุนแรง ถ้าเป็นหนักขึ้นแผลจะพุพองเป็นหนอง และฝ่าเท้าหนาขึ้นค่ะ จากนั้นกลากก็จะแผ่วงกว้างออกไปเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบรักษา บางครั้งลุกลามไปยังจุดอื่นๆ ของร่างกายได้ ผ่านการสัมผัส เช่น จากผ้าเช็ดตัว หรือสัมผัสพื้น เป็นต้น

 

Athlete's foot, โรคน้ำกัดเท้า, โรคกลากที่เท้า

ภาพจาก pexels.com

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคน้ำกัดเท้า

1. ใส่ถุงเท้าอับชื้น

2. ใส่รองเท้าคับเกินไป

3. ชอบเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะ

4. ผิวหนังอักเสบแบบเรื้อรัง

5. ร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

6. เลือดไหลเวียนที่ขาไม่ดี

7. เกิดจากโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน เป็นต้น

 

Athlete's foot, โรคน้ำกัดเท้า, โรคกลากที่เท้า

ภาพจาก pexels.com

 

การติดต่อ

          โรคน้ำกัดเท้ามีโอกาสติดต่อกันได้ ผ่านการสัมผัสจากผู้ที่มีเชื้อโดยตรง และติดต่อผ่านทางพื้นที่เปียกแฉะในที่สาธารณะ อย่างพื้นห้องน้ำฟิตเนส หรือสระว่าย เป็นต้น

 

วิธีระวังโรคน้ำกัดเท้า

1. ล้างเท้าและเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังออกกำลังกาย หรือเมื่อเท้าโดนน้ำเปียก

2. ไม่ใช้รองเท้าถุงเท้าร่วมกับผู้อื่น

3. ควรใส่ถุงเท้าสะอาดทุกครั้ง ไม่ควรใส่ซ้ำโดยที่ไม่ซัก

4. ไม่สวมรองเท้าเปียกๆ เป็นเวลานาน

5. เลือกรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ทำให้เหงื่อไม่ชุ่มเท้าเข้าไว้

6. ควรมีรองเท้าหลายคู่ เอาไว้สลับกันใส่ ไม่ควรใช้คู่เดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน

7. ดูแลรักษาความสะอาดรองเท้า รวมทั้งเช็คสภาพรองเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าที่พังค่ะ

 

Athlete's foot, โรคน้ำกัดเท้า, โรคกลากที่เท้า

ภาพจาก pexels.com

 

วิธีการรักษาโรคน้ำกัดเท้า

          สามารถรักษาได้ด้วยยาทาซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นหนักควรไปหาหมอนะคะ นอกจากนี้ก็ต้องระวังตัวเอง ดูแลความสะอาดเท้า ไม่พาตัวเองไปเสี่ยง ใครที่มีเชื้ออยู่ควรงดการใช้ห้องอาบน้ำสาธารณะ งดว่ายน้ำ หรืองดไปฟิตเนสสักพักค่ะ

 

          ใครที่เริ่มคันๆ ที่เท้าลองสำรวจดูสักนิดว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือไม่ จริงๆ แล้วเท้าเป็นอวัยวะที่สำคัญกับมนุษย์มาก ควรรักษาความสะอาดให้ดี ใส่รองเท้าที่ดี มีคุณภาพ ที่สำคัญอย่าให้เท้าเปียกเป็นเวลานาน หน้าฝนแบบนี้ลุยฝนแล้ว เมื่อถึงบ้านต้องรีบล้างเท้า ฟอกสบู่ และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง อย่าปล่อยให้เท้าป่วยนะคะ 🙂 

 

ข้อมูลจาก : honestdocs.co

Young@Heart Show