YOUNG@HEART SHOW : ตะลึง! พบไมโครพลาสติกในท้องปลาทู 100% ของกลุ่มตัวอย่าง

Share:
ไมโครพลาสติกในปลาทู, Microplastics

          ศูนย์ปฎิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง พบไมโครพลาสติกจำนวนมากในกลุ่มตัวอย่างปลาทูตรวจ 60 ตัว เจอทั้งหมด 60 ตัว!! เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้นในกระเพาะปลา อาจส่งผลต่อสุขภาพคนรับประทานได้ เนื่องจากไมโครพลาสติกมีขนาดเล็ก เมื่อคนรับประทานปลาเข้าไปก็จะได้รับไมโครพลาสติกไปด้วยค่ะ

 

ไมโครพลาสติกในปลาทู, Microplastics

 

ไมโครพลาสติกในปลาทู, Microplastics

ภาพจาก Facebook-ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานทางทะเล จังหวัดตรัง

 

ไมโครพลาสติกคืออะไร?

          ไมโครพลาสติกคือพลาสติกที่ถูกกัดกร่อนหรือแตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ มีขนาด 1 นาโนเมตร ถึง 5 มิลลิเมตร เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเกิดจากขยะพลาสติกที่ไม่ได้กำจัดอย่างถูกวิธีของมนุษย์ ในกรณีไมโครพลาสติกในท้องปลาทู ก็เป็นเพราะขยะพลาสติกในทะเลที่ปลาทูกินเข้าไปเป็นอาหาร ซึ่งจริงๆ แล้วไมโครพลาสติกอยู่ในสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ในปลาทูเท่านั้น!

 

          นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) เคยวิจัยพบว่าอุจจาระของมนุษย์นั้นมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ จากกลุ่มตัวอย่างที่ทานอาหารในหีบห่อพลาสติก ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก และทานอาหารทะเล นั่นหมายความว่าไมโครพลาสติกแทรกซึมอยู่ทุกที่ ไม่เพียงแต่ในสัตว์ทะเลเท่านั้น

 

          แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจแตกตื่น จนเลิกทานอาหารทะเลไปนะคะ ยังไม่มีผลการศึกษาไหนระบุได้ว่าไมโครพลาสติกอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เพียงใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่ารอบๆ ตัวเรานั้นมีพลาสติกแฝงอยู่มากมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ได้เมื่อสะสมไมโครพลาสติกไว้เป็นจำนานมาก ปลาในทะเลอาจจะได้ผลกระทบมากกว่า เพราะมันไม่รู้ว่าอันไหนอาหารหรืออันไหนพลาสติกค่ะ

 

อันตรายของไมโครพลาสติก

          ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดว่าไมโครพลาสติกอันตรายต่อมนุษย์อย่างไร แต่เบื้องต้นมีข้อสันนิษฐานว่า ถ้าพลาสติกถูกกัดกร่อนจนเล็กกว่าระดับไมโคร และหลุดเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด รวมทั้งระบบน้ำเหลือง อาจอันตรายถึงชีวิตของมนุษย์ได้ค่ะ ผู้บริโภคเองก็ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดนะคะ

 

ไมโครพลาสติกในปลาทู, Microplastics

ภาพจาก pexels.com

 

 

วิธีการลดป้องกัน

          วิธีเดียวที่จะทำได้ตอนนี้คือลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้ วางแผนจัดการขยะให้เป็นระบบ ส่วนขยะที่อยู่ในทะเลแล้วตอนนี้ก็สามารถเป็นจิตอาสาร่วมเก็บขยะในท้องทะเลได้ค่ะ ช่วยกันคนละนิดละหน่อย เพื่อสุขภาพของตัวเอง สัตว์โลก และให้ธรรมชาติอยู่กับเราไปนานๆ นะคะ

  

          พลาสติกอยู่กับเราทุกที่ อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ เพราะทางแก้ที่ถูกต้องไม่ใช่การเลิกทานปลาทู แต่เป็นการลดขยะพลาสติก ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน เพื่อคนรักการทานปลาทู และรักการทานซีฟู้ดเป็นชีวิตจิตใจ อยากทานต่อต้องช่วยกันลดขยะนะคะ

 

ที่มา: Facebook-ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานทางทะเล จังหวัดตรัง | www.bbc.com/thai | www.nsm.or.th

Young@Heart Show