จับตา “ส.อ.ท.” ร่วมหารือกับรัฐมนตรีแรงงาน ถกนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำไม่ควรแทรกแซง

186
0
Share:
จับตา "ส.อ.ท." ร่วมหารือกับ รัฐมนตรีแรงงาน ถกนโยบายขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำไม่ควรแทรกแซง

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ก.ย.) ส.อ.ท. จะร่วมหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และทีมงานเกี่ยวกับประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ การขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และภาพรวมแนวทางการพัฒนาแรงงานของไทยในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่ง ส.อ.ท. เห็นว่าควรเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคีตามกรอบกฎหมายที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

โดยระบุว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นไตรภาคีประกอบด้วยรัฐ ลูกจ้าง นายจ้าง และมีการดำเนินงาน 2 ขั้นตอนหลัก คือ ไตรภาคีจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานจะทำการพิจารณาอัตราค่าจ้างที่ต่างกันไป และเสนอมายังคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่จะมีปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ก่อนจะมีการเคาะก็ต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการเทคนิคก่อน ดังนั้นองค์กรนี้เป็นอิสระฝ่ายการเมืองไม่สามารถแทรกแซงได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่ยึดองค์ประกอบสำคัญได้แก่ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) อัตราเงินเฟ้อ รายได้ลูกจ้าง ความพร้อมของนายจ้าง และประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นหากแต่ให้ยึดเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสมกับสภาพต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่มีการระบุว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทางเอกชนเองก็ไม่แน่ใจว่าเอาเกณฑ์อะไรมาพิจารณาจึงต้องขอความชัดเจน

“ไม่แน่ใจว่าตัวเลขนี้คิดมาจากไหน แต่หากดู GDP ปีนี้ไทยจะโตราว 2.8-3% เงินเฟ้อต่างๆ แล้วคร่าวๆ การปรับจริงควรจะขึ้นไปราว 10 กว่าบาท/วันเท่านั้น การจะขึ้นไป 40-50 บาท/วันจะเป็นไปได้อย่างไร ดังนั้นจึงขอให้คำนึงถึงผลกระทบหลายอย่างที่จะตามมาท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวไทยเองก็ยังคงขาดแคลนเพราะคนไทยไม่ทำงานประเภท 3D งานสกปรก (dirty job) งานอันตราย (dangerous job) และงานยาก (difficult job) ซึ่งตัวเลขคาดว่าจะเป็นระดับแสนคน” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า นโยบายพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท/วันในปี 2570 ดังนั้นการระบุในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกรัฐมนตรีถึงตัว 400 บาท/วันที่จะทำทันทีนั้นเข้าใจว่าน่าจะเป็นการนำค่าจ้างที่จะต้องปรับขึ้นตามเป้าหมายมาเฉลี่ย 4 ปีจากตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำเขต กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 353 บาท/วันก็จะปรับขึ้นปีแรกที่ราว 400 บาท/วัน ซึ่งอัตรานี้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รับไม่ไหวแน่นอนจึงเชื่อว่ารัฐบาลจะมีความยืดหยุ่นในการพิจารณา