ศปก.ศบค.ขอเวลา 15 วันประเมินก่อนคลายล็อกเพิ่ม-เปิดผับบาร์ คาดภายในสิ้นปีนี้จะมีท่องเที่ยวเข้ามา 600,000 คน

371
0
Share:
ศปก.ศบค.ขอเวลา 15 วันประเมินก่อน คลายล็อก เพิ่ม-เปิดผับบาร์ คาดภายในสิ้นปีนี้จะมีท่องเที่ยวเข้ามา 600,000 คน

ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ระบุว่านับจาก 1 พ.ย.จะใช้เวลา 15 วันเพื่อประเมินผลของการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ครั้งล่าสุด และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเฟสแรก ก่อนจะพิจารณาว่าจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะ ซึ่งได้คาดว่าในสุดท้ายของปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยราว 6 แสนคน และในปี 65 จะเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท/คน

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงแผนการเปิดประเทศต่อภาคเอกชนว่า วันนี้ได้จัดทีมเชิงรุกลงไปปรับปรุงร้านอาหารหรือสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานทางสาธารณสุข หรือ SHA ส่วนร้านอาหารใดที่ผ่านมาตรฐาน SHA อยู่แล้ว ก็จะเพิ่มให้ไปจนถึง SHA+ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับ กทม.เข้าไปดำเนินการ รวมไปถึงจังหวัดนำร่องอื่นๆ ที่ประกาศเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว

ทั้งนี้ยืนยันว่าการผ่อนคลายให้สามารถนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ถึง 21.00 น.ต้องปฏิบัติได้จริง ไม่มีการอะลุ่มอล่วย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมดต้องช่วยกัน เพราะหากควบคุมไม่ได้ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหาย และหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าจำหน่ายเกินเวลาจะมีการตักเตือนก่อน หากยังไม่ปฏิบัติตามก็ต้องใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการ

ซึ่งจะมีการประเมินภาพรวมอีกครั้งในอีก 15 วัน รวมถึงการเปิดผับบาร์ในพื้นที่นำร่องและถ้าได้รับความร่วมมืออย่างดีก็จะมีมาตรการผ่อนคลายเป็นระยะ ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินการผ่อนคลายจะดูในหลายปัจจัย ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ และคลัสเตอร์ต่างๆ การฉีดวัคซีน รวมถึงขีดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข

และจากการเปิดประเทศที่เริ่มตั้งแต่วานนี้ ยังพบปัญหาขั้นตอนบางอย่างในการรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา สำหรับเป้าหมายในการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนคือ ประชาชนจะต้องรักษามาตรการสาธารณสุข เน้นการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รักษาระยะห่าง และทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง

และในส่วนของกิจการและกิจกรรมต่างๆ ก็ให้ใช้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของ COVID free setting คือการปรับปรุงสถานที่ให้ปลอดภัย เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการ เนื่องจากการเปิดประเทศไม่ดูเฉพาะเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องคำนึงถึงภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมด้วย