เงินเยนดีดแข็งค่ากลับแตะ 140 เยน หลังรัฐบาล-แบงก์ชาติญี่ปุ่นแทรกแซงเงินเยนครั้งแรก

347
0
Share:
เงินเยน ดีดแข็งค่ากลับแตะ 140 เยน หลังรัฐบาล-แบงก์ชาติญี่ปุ่นแทรกแซงเงินเยนครั้งแรก

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2565 เวลา 21.30 น. (เวลาไทย) ค่าเงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ ดีดกลับแข็งค่าขึ้นทันที มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 140.31 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยมาปิดที่ระดับ 141.91 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ ค่าเงินเยนร่วงอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงระหว่างวันมาแตะที่ระดับ 145.90 ต่อดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ญี่ปุ่น และผู้ว่าการธนาคารกลาง ญี่ปุ่น แถลงการณ์ร่วมใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินญี่ปุ่น นับเป็นการใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1998 เป็นต้นมา ซึ่งในปีดังกล่าวนั้น ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนหลังจากเงินเยนร่วงลงอย่างรุนแรงแตะระดับ 146 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากวิกฤตการเงินเอเชียที่กรุงเทพ ประเทศไทย

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศในเอเชีย กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น รายงานว่า เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2565 เวลา 10.10 น. (เวลาไทย) ค่าเงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ ร่วงอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 145.405 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติร่วงอ่อนค่าครั้งใหม่ในรอบ 24 ปี หรือตั้งแต่เดือนสิงหา ปี 1998 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงเวลานั้น เงินเยนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับ 144.38 ต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่น ในวันนี้มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ -0.1% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 17.00 น. ตามเวลาญี่ปุ่น ค่าเงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ ร่วงอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 144.015 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติร่วงอ่อนค่าในรอบ 24 ปีครั้งใหม่ หรือตั้งแต่เดือนสิงหา ปี 1998 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงเวลานั้น เงินเยนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับ 144.38 ต่อดอลลาร์สหรัฐ

นับตั้งแต่ต้นปีนี้มาถึงปัจจุบัน ค่าเงินเยนร่วงมากถึง 30 เยน ดำดิ่งกว่า 20% ไม่เพียงทำสถิติค่าเงินเยนอ่อนค่ารายปีที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 43 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นค่าเงินที่ตกต่ำมากที่สุดในกลุ่ม 7 ประเทศชั้นนำอุตสาหกรรมของโลก หรือกลุ่มจี 7

สาเหตุจากนักลงทุนแห่เทขายเงินเยนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับช่องว่างของดอกเบี้ยระยะสั้นระหว่างธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น 075% ในคืนผ่านมา นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องได้รับการใช้มาตรการการเงิน หรือดอกเบี้ยระยะสั้นยังตึงตัวไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาจะตกอยู่ในการควบคุมได้ ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเกิดการชะลอตัว ภาวะการจ้างงานอ่อนแอลง และความเจ็บปวดหรือความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนอเมริกัน และธุรกิจในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ไม่ทีทางเลือกอื่นๆ ที่รวดเร็วในการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประธานเฟด กล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อระดับสูงย่อมจะเกิดต้นทุนที่ไม่เป็นผลดีในการลดอัตราเงินเฟ้อต่ำลงให้เข้าเป้าหมาย แต่ความล้มเหลวในการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพนั้น อาจหมายถึงความเจ็บปวดที่มากขึ้น เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ความเจ็บปวดหรือความยากลำบากมีมากขึ้นนั้น ประชาชนไม่ควรคาดการณ์ว่าเฟดจะรีบปรับลดมาตรการลงอย่างรวดเร็วจนกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะได้รับการแก้ไข