รู้ทันอาการปวดไมเกรน

Share:

          หลายๆท่านเมื่อต้องพบเจอกับอาการปวดศีรษะ ก็สร้างความรำคาญใจไม่น้อยในการใช้ชีวิต และยิ่งเป็นการปวดศีรษะแบบไมเกรนแล้ว ยิ่งทำให้วันนั้นอาจจะต้องนอนเฉยๆไปเลย เมื่ออาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นปัญหากวนใจแบบนี้ วันนี้ Young @Heart Show จะพาไปทำความรู้จักกับ อาการ และ การรักษาของ ไมเกรนกันค่ะ

          ไมเกรน (Migraines) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงชนิดหนึ่ง จะรู้สึกปวดตุบ ๆเหมือนชีพจรเต้นที่ศีรษะ โดยมักปวดบริเวณศีรษะข้างเดียว หรือปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดสองข้าง ในขณะที่ปวดก็มักมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย และอาจมีความรู้สึกไวต่อเสียงและแสงสว่างมากกว่าปกติ

ที่มา : www.pixabay.com

          สาเหตุของไมเกรน นั้นเกิดจากความผิดปกติชั่วคราวในการทำงานของสมองที่มีผลกระทบต่อเส้นประสาท สารเคมี และหลอดเลือดในสมอง แต่สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศผู้หญิงในช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือน, ความเครียด,แสงจ้า ,เสียงดัง ,กลิ่นหอมหรือเหม็นที่รุนแรง ,การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน ,การใช้ยาบางชนิด ,การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือมากเกินไป, ออกกำลังกายอย่างหักโหม ,การสูบบุหรี่ ,คาเฟอีน ,การอดอาหาร หรือการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

ที่มา : www.pixabay.com

          อาการของไมเกรน นั้นสามารถแบ่งออกมาได้ 4 ระยะ ของอาการ คือ
1. ระยะก่อนมีอาการ (Prodrome) จะเป็นในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนปวดศีรษะ จะมีอาการอยากอาหาร อารมณ์เปลี่ยนแปลง ควบคุมการหาวไม่ได้ บวมน้ำหรือปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
2. ระยะอาการนำ จะเป็นในช่วง 20 – 40 นาทีก่อนหรือระหว่างปวดศีรษะ จะเห็นแสงแฟลช แสงสว่างจ้า หรือเส้นเป็นซิกแซก ที่ทางการแพทย์จะเรียกว่า การเห็นแสงออร่า (Aura) และอาการอ่อนแรง
3. ระยะปวดศีรษะ จะกินเวลาประมาณ 4 -24 ชม. อาการปวดหัวจะค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
4. ระยะหลังมีอาการ ซึ่งอาจจะมีอาการปวดศีรษะอยู่เป็นวัน และอาจจะรู้สึกหมดแรง อ่อนแรง สับสนได้

ที่มา : www.pixabay.com

         การรักษาอาการไมเกรนนั้นในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการหรือการรักษาให้หายขาดได้การรักษาจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการและป้องกันตัวเองจากสิ่งกระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน โดยจะมีการทานยาแก้ปวด เช่นพาราเซตามอน ในผู้ที่มีอาการปวดที่ไม่รุนแรง หากอาการไม่มีดีขึ้นหรือมีความรุนแรงมากขึ้นก็จะเป็นการทานยาแก้ปวดที่มีตัวยาแรงขึ้น หรือ ยาแก้ปวดที่ผสมยาคลายกล้ามเนื้อ และหากมีอาการที่รุนแรงมากๆควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับยาที่ใช้ทานแก้ปวดสำหรับไมเกรนโดยเฉพาะ

          สุดท้ายนี้ถ้าเรามีอาการปวดศีรษะไม่ว่าจะมาจากสาเหตุของไมเกรนหรือไม่ก็ตาม หากทานยาแล้วยังมีอาการปวดศีรษะหนักขึ้นหรือเป็นอยู่เรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องให้ตรงกับร่างกายของเรา

 

สามารถติดตามรับชมรายการ Young @Heart Show ตอน รู้ทันไมเกรน ได้ที่นี่

Young@Heart Show