YOUNG@HEART SHOW : รู้ทันโรค “เบิร์นเอาท์” ภาวะป่วยของวัยทำงาน

Share:

          เบิร์นเอาท์ ซินโดรม (Burnout Syndrome) สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยทำงาน ที่ทำงานมาได้สักพักแล้วรู้สึกถึงความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีพลังในการทำงาน รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากไปทำงาน นั่นคืออาการเริ่มต้นของเบิร์นเอาท์ โรคนี้ไม่ใช่เล่นๆ WHO (องค์การอนามัยโลก) ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้า และมีโอกาสทำให้คนฆ่าตัวตายได้ค่ะ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้ และหาวิธีแก้ไขมันซะ ก่อนที่จะลุกลามเป็นโรคซึมเศร้านะคะ

 

          เบิร์นเอาท์ ซินโดรม (Burnout Syndrome) หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออาการป่วย WHO (องค์การอนามัยโลก) จัดให้เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ เกิดจากการสะสมความเครียดในการทำงานเป็นเวลานาน และส่งผลต่อสุขภาพวัยทำงานในระยะยาวค่ะ

 

Photo by energepic.com from Pexels

 

อาการของเบิร์นเอาท์ ซินโดรม

รู้สึกเบื่อหน่าย ตื่นมาตอนเช้าไม่อยากลุก ไม่อยากไปทำงาน

รู้สึกเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ เหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ แม้จะพักผ่อนเท่าไรก็รู้สึกไม่พอ

รู้สึกวิตกกังวล กลัวคำตำหนิ ทั้งๆที่เป็นปกติของงานอยู่แล้ว

กลัวว่าจะทำงานไม่ดี รู้สึกงานของตัวเองด้อยค่า ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เริ่มทำงานผิดพลาดบ่อยขึ้น ขาดความเอาใจใส่งาน มีความคิดที่จะเปลี่ยนงานบ่อยๆ

ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย ลางานบ่อยขึ้น < อันนี้เป็นผลมาจากจิตใจค่ะ เหมือนเราคิดว่าตัวเองป่วย ร่างกายก็จะป่วยจริงๆ

มีอาการหงุดหงิดง่าย จิตใจไม่สงบ เฉื่อยชา ทำงานช้า และไม่มีสมาธิในการทำงาน

ไม่มีความมั่นใจในการทำงาน ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องงานได้

เริ่มเก็บตัว เบื่อสังคม ไม่อยากคุยกับเพื่อนร่วมงาน ไม่อยากทำงานอดิเรกที่เคยชอบ

ตอนกลางคืนนอนไม่หลับ ตอนกลางวันง่วงอ่อนเพลีย

 

ถ้าเป็นมาถึงขั้นสุดท้ายจะเริ่มเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าแล้วนะคะ

 

Photo by Nathan Cowley from Pexels

 

วิธีแก้ไขอาการเบิร์นเอาท์ ซินโดรม

1. แยกให้ออกก่อนว่าขี้เกียจหรือเบิร์นเอาท์ อาการจะคล้ายๆกันค่ะ แต่ขี้เกียจจะขยันมากในเรื่องที่ไม่ใช่งาน เรื่องเล่นๆจริงจังเสมอ ยังรู้สึกสนุกที่จะไปเล่นที่ทำงาน แปลว่าคุณแค่ขี้เกียจเท่านั้น

2. ถ้ารู้ว่าเริ่มเป็นเบิร์นเอาท์ ให้เริ่มปรับทัศนคติ อย่าคาดหวังสูง อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ทำยากนะคะ ต้องค่อยๆคิดและทำทีละสเต็ปค่ะ

3. หาที่ปรึกษาค่ะ ควรคุยระบายความรู้สึกของตัวเอง ถ้าไม่อยากปรึกษาคนรู้จัก ให้ไปปรึกษาจิตแพทย์

4. ปรับเวลาให้สมดุล ระหว่างเวลางาน เวลากิน และเวลาส่วนตัว โดยเฉพาะการทานข้าวหน้าจอคอมฯ ควรเลิกซะ ควรทานข้าวบนโต๊ะอาหารให้เป็นกิจจะลักษณะ อย่าเอา 2 อย่างมารวมกันค่ะ

5. ฝึกทานอาหาร เข้านอน และตื่นนอนให้ตรงเวลา

6. หาเวลาออกกำลังกาย ระบายความเครียด

7. หางานอดิเรกทำ หาความสุขใส่ตัวบ้าง อย่าหมกหมุ่นอยู่กับงานอย่างเดียวค่ะ

 

Photo by bruce mars from Pexels

 

          เบิร์นเอาท์ใครๆก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะดึงตัวเองให้กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้งได้เร็วแค่ไหน หลักๆแล้วมันเกิดจากการทำงานซ้ำๆ เดิมๆ เบื่องาน ผิดหวังกับเรื่องเดิมๆ โดนตำหนิเรื่องเดิมบ่อยๆ พอเวลาผ่านไปมันก็จะสะสมเป็นภาวะเบิร์นเอาท์ในที่สุดค่ะ

          มันอยู่ที่ตัวเองล้วนๆ ถ้ารู้จักเผื่อใจ ปรับปรุงตัวให้ทำงานสำเร็จ ไม่ผิดซ้ำซากเรื่องเดิม ก็จะรู้สึกดีกับการทำงานไปเอง ทั้งนี้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานก็สำคัญ การได้รับคำชมเล็กๆน้อยๆ ก็เหมือนกับร่างกายได้รับของหวาน~ ขอให้ชาวออฟฟิศมีความสุขกับการทำงานนะคะ 🙂 

Young@Heart Show