YOUNG@HEART SHOW : สังคมก้มหน้าระวังเป็น “โรคโนโมโฟเบีย” อันตรายในกำมือ

Share:

           ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนกลายมาเป็นอวัยวะที่ 33 ของใครหลายคน ใช้ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว สร้างสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สมาร์ทโฟนมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีโทษด้วยเช่นกัน ติดมากๆก็อาจเป็นโรคโนโมโฟเบีย (Nomophobia) โรคนี้คืออะไร วันนี้มาทำความรู้จักกันค่ะ

 

 

ภาพจาก Pexels

 

โรคโนโมโฟเบีย (Nomophobia)

          โรคติดมือถือหรือสมาร์ทโฟน Nomophobia มาจาก No Mobile Phone + Phobia เป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือโรคกลัวที่จะไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว มักมีอาการเครียดเมื่อต้องห่างมือถือ แบตฯหมดทีไรรู้สึกกังวล อยู่ไม่สุกอยากหาที่ชาร์ต ถ้าลืมมือถือหรือมือถือหายจะยิ่งวิตกกังวล รู้สึกไม่มีสมาธิ เครียด ในรายที่เป็นหนักจะตัวสั่น เหงื่อออก และคลื่นไส้ค่ะ

 

♦ อาการเริ่มต้น ♦

1. พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา ไม่ไหนทำอะไรก็เอาไปด้วยตลอด

2. หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยๆ แม้ว่าจะไม่มีข้อความเด้งขึ้นมาเลยก็ตาม

3. เมื่อมีข้อความเด้งขึ้นมาจะต้องรีบดู ถ้าไม่ดูจะไม่สามารถทำภารกิจอื่นๆต่อไปได้

4. ตื่นนอนแล้วหยิบโทรศัพท์เป็นอย่างแรก และดูโทรศัพท์เป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเข้านอน

5. ติดโซเชี่ยลมีเดีย ติดเกม พูดคุยผ่านแอพลิเคชั่นมากกว่าคุยกับคนจริงๆ

6. นั่งนิ่งๆนานๆไม่ได้ รอไม่ได้ ต้องหยิบโทรศัพท์ออกมาเล่นตลอดเวลา

7. แม้กระทั่งนั่งอยู่ในวงสนทนา ก็ไม่ยอมคุยกับคนอื่น กลับหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแชทแทน

 

ภาพจาก Pexels

 

          โรคโนโมโฟเบียอาจไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร แต่อาจนำมาซึ่งโรคทางกายอื่นๆอีกมากมาย เช่น นิ้วล็อค จอประสาทตาเสื่อม สายตาสั้น ตาล้า ปวดเมื่อยคอบ่าไหล่ หลังค่อม เล่นโทรศัพท์มากๆอาจเวียนศีรษะ ปวดหัว และเป็นโรคอ้วนตามมาได้ น่าตกใจใช่ไหมคะ วิธีการที่จะบำบัดอาการติดโทรศัพท์มือถือได้มีอยู่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือการทำโซเชี่ยลมีเดียดีท็อกซ์ค่ะ

 

ภาพจาก Pexels

 

โซเชี่ยลมีเดียดีท็อกซ์ (Social Media Detox)

          ดีท็อกซ์คือการนำสารพิษออกจากร่างกาย โซเชี่ยลมีเดียดีท็อกซ์ก็คือการนำพิษร้ายจากโซเชี่ยลมีเดียออกจากร่างกายนั่นเอง เป็นการห่างกันสักพักกับสมาร์ทโฟน เลิกเล่น Facebook, IG, Twitter รวมทั้งเกมด้วย เลิกนานแค่ไหนแล้วแต่ตัวเองจะกำหนด เริ่มแรกอาจจะเลิก 1 วันก่อน เช่นทุกๆวันอาทิตย์ เป็นต้น จากนั้นค่อยๆเพิ่มเวลาไปเรื่อยๆค่ะ

          ต้องตั้งกฎให้ตัวเองเลยว่าจะไม่แตะต้องโทรศัพท์ ไม่อัพรูป ไม่แชร์ ไม่กดไลก์ ไม่คอมเมนท์อะไรทั้งนั้น สักพักจะอาการดีขึ้นเอง เป้าหมายคือใช้โทรศัพท์เท่าที่จำเป็น ไม่ใช้ตลอดเวลานะคะ

 

ภาพจาก Pexels

 

          ช่วงเวลาที่เลิกควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำแทน อย่าปล่อยให้มือว่างจนเกิดอาการกระวนกระวายใจ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ทำความสะอาด ออกไปทานข้าวกับเพื่อน ฝึกทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทำสวน ฯลฯ ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายให้ทำ ที่ไม่เกี่ยวกับมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ค่ะ

 

          ทุกวันนี้โรคโนโมโฟเบียใครๆก็เป็นกัน เพียงแต่ไม่ได้สังเกตตัวเองเท่านั้น และสามารถหายได้ไม่ยาก แค่ไม่เล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง คุยกับคนรอบข้างบ้างเท่านี้ชีวิตก็แฮปปี้ ไม่เป็นโรคโนโมโฟเบียแล้วค่ะ

Young@Heart Show