YOUNG@HEART SHOW : กินเค็มเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

Share:
เค็ม, เกลือ, โซเดียม

          กรมสรรพสามิตเตรียมตัวเก็บภาษีความเค็มเนื่องจากปัญหาสุขภาพของประชาชน ทุกวันนี้คนไทยป่วยเพราะอาหารเยอะมาก สิ่งที่ทานเข้าไปล้วนตอบสนองความอยากและความอร่อย แต่ไม่ได้ดีต่อร่างกายเท่าที่ควร ความเค็มจะกระทบต่อสุขภาพยังไงบ้างมาหาคำตอบกันค่ะ

 

ความเค็มคืออะไร?

          ความเค็มหรือโซเดียมมีความจำเป็นต่อร่างกาย มันคือเกลือแร่ที่ช่วยในการเก็บกักน้ำรอบๆ เซลล์และเนื้อเยื่อ ควบคุมความสมดุลของกรดด่าง อัตราการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมทั้งความดันโลหิต เกลือแร่สามารถเพิ่มความดันโลหิตได้ ดีสำหรับผู้ที่ความดันต่ำค่ะ

 

เค็ม

ภาพจาก Pixabay.com

 

          โซเดียมอยู่ในอาหารที่มีความเค็ม ได้แก่ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ผงปรุงรส ผงชูรส ผงฟู ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารไทย นอกจากนี้ยังมีบางคนติดน้ำปลาพริก ซอสปรุงรสกันมาก ไม่ว่าเมนูไหนก็ใส่ได้หมด และทุกวันนี้เรานิยมทานอาหารแช่แข็งจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีการปรุงรสที่จัดจ้าน โซเดียมค่อนข้างสูง ถ้าทานเป็นประจำทุกวันก็จะส่งผลต่อสุขภาพค่ะ

 

เค็ม

ภาพจาก Pixabay.com

 

กินเค็มเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

          1. ความดันโลหิตสูง อย่างที่บอกไปว่าเกลือแร่ช่วยเพิ่มความดันได้ในผู้ป่วยความดันต่ำได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ป่วยเมื่อได้รับมากเกินไปก็จะทำให้มีความดันสูงค่ะ

          2. โรคไต ไตมีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย และควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล เมื่อมีเกลือแร่มากเกินไป ไตก็จะทำงานหนักเพื่อกำจัดเกลือแร่ส่วนเกิน อาจทำให้ป่วยเป็นโรคไตได้ค่ะ

          3. โรคหลอดเลือดและหัวใจ เมื่อความดันโลหิตสูงก็จะทำให้หลอดเลือดและหัวใจทำงานหนักขึ้น และอาจพัฒนาเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เส้นเลือดในสมองแตก หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ค่ะ

          4. โรคกระดูกพรุน เมื่อมีเกลือแร่มากร่างกายก็จะกำจัดออกทางปัสสาวะ แคลเซียมซึ่งจำเป็นต่อร่างกายก็จะถูกขับออกมาด้วย ทำให้เสี่ยงโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง และแตกหักได้ง่ายค่ะ

          5. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีงานวิจัยบางตัวระบุว่าเกลือแร่ช่วยให้แบคทีเรียในกระเพาะอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ทั้งนี้ยังงานวิจัยยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกค่ะ

 

เค็ม

ภาพจาก Pixabay.com

 

ปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวัน ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน

หรือเท่ากับเกลือประมาณ 1 ช้อนชา เท่านั้น

 

เค็ม

ภาพจาก Pixabay.com

 

          ใครที่รู้ตัวว่ากำลังทานเค็มเกินขนาด ควรลดค่ะ เพื่อสุขภาพของตัวเอง แต่ก็ไม่อยากให้เครียดเรื่องการกินมากไป จนไม่มีความสุข ถ้านานๆ จะทานของเค็มสักครั้งก็ไม่เป็นไร แต่อย่าทานบ่อยจนติดเป็นนิสัย วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ก็คือทำอาหารทานเองจะได้รู้ว่าใส่เกลือไปแล้วเท่าไร แต่ถ้าไม่มีเวลาทำอาหารก็แค่ อ่านฉลากก่อนซื้อ” บนฉลากจะบอกปริมาณโซเดียม แค่นี้ก็ดูแลสุขภาพได้ง่ายๆ แล้วค่ะ

 

 

ข้อมูลจาก: สสส www.thaihealth.or.th | med.mahidol.ac.th | www.pobpad.com

Young@Heart Show