บริหารแก้หลังแอ่น กับ คุณพิซซ่า บุญญาพร เลิศวัฒนกิตติ นักกายภาพบำบัดเจ้าของเพจมนุษย์ตึง

Share:

          เคยสังเกตร่างกายของเรากันไหมคะ ว่ามีลักษณะ ไหล่ห่อ หน้าท้องยื่น ก้นงอน หรือไม่ถ้าคุณมีรูปร่างที่เป็นลักษณะแบบนี้ แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะหลังแอ่น (Lordosis) ซึ่งจะส่งผลเสียกับร่างกายตามมาได้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้ Young @Heart Show มีเคล็ดลับมาฝากค่ะ

          ภาวะหลังแอ่น เกิดจากการที่ลักษณะเชิงกรานด้านหน้าลดต่ำลง ในขณะที่เชิงกรานด้านหลังเคลื่อนสูงขึ้น จากความโค้งของกระดูกสันหลังส่วนเอวที่เพิ่มมากขึ้นจากปกติที่ความโค้งอยู่ที่ประมาณ 30 – 35 องศาในท่ายืน กล้ามเนื้อที่ช่วยในการงอสะโพกตึง กล้ามเนื้อแกนกลางอ่อนแอ กล้ามเนื้อก้นอ่อนแอ การออกกำลังกายในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้หลังส่วนล่างสร้างแรงกดบริเวณหลังทั้งหลัง ทำให้การเคลื่อนไหวของหลังที่ผิด และเกิดอาการเจ็บหลังส่วนล่างได้


          วิธีการเช็กว่าเราอยู่ในภาวะหลังแอ่นหรือไม่นั้นสามารถเช็กได้ด้วยการนอนราบกับพื้นเรียบ หรือบนที่นอนเรียบและหากฝ่ามือสามารถสอดผ่านบริเวณหลังและเอวได้แสดงว่ากำลังอยู่ในภาวะหลังแอ่นค่ะ เมื่อเรารู้ถึงที่มาของอาการและวิธีการเช็กร่างกายกันแล้ว วันนี้ คุณพิซซ่า บุญญาพร เลิศวัฒนกิตติ นักกายภาพบำบัดเจ้าของเพจมนุษย์ตึง มีท่าบริหารแก้หลังแอ่นง่ายๆสามารถทำเองได้ที่บ้านมาฝากกันค่ะ


ท่าที่ 1 ท่ายืดกล้ามเนื้อสะโพก
เป็นท่าที่ช่วยบริหารสะโพกที่ตึงจากการยืน เดิน หรือนั่งเป็นเวลานานๆ วิธีบริหารคือ
1.นั่งลงและตั้งเข่าด้านขวาขึ้น
2.จากนั้นดันสะโพกไปด้านหน้า
3.ลำตัวตรงไม่เอนลำตัวไปด้านหน้า ทำค้างไว้ 15 วินาที จากนั้นทำแบบเดียวกันในข้างซ้าย
บริหารค้างไว้ 15 วินาที ข้างละ 10 ครั้ง


ท่าที่ 2 ท่ายืดกล้ามเนื้อหลัง
เป็นท่าที่ช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณหลังสำหรับใครที่มีอาการปวด ตึงหลังมากๆ วิธีบริหารคือ
1.นอนราบกับพื้น จากนั้นงอเข่าทั้ง 2 ข้าง
2.ยกเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้น นำแขนทั้ง 2 ข้างประสานไว้ใต้เข่า
3.จากนั้นดันเข่าทั้ง 2 ข้างเข้าหาลำตัว ทำค้างไว้ 15 วินาที
บริหารค้างไว้ 15 วินาที ข้างละ 10 ครั้ง


ท่าที่ 3 ท่าบริหารกล้ามเนื้อก้น
เป็นท่าที่ช่วยบริหารกล้ามเนื้อก้นให้แข็งแรงเพราะ หนึ่งในสาเหตุของอาการหลังแอ่นมาจากการที่กล้ามเนื้อก้นไม่แข็งแรง วิธีบริหารคือ
1.นอนราบกับพื้น จากนั้นตั้งเข้าขึ้นทั้ง 2 ข้าง
2.ยกสะโพกขึ้น เกร็งหน้าท้อง ทำค้างไว้ 5 วินาที
บริหารค้างไว้ 5 วินาที 5-10 ครั้ง จำนวน 3 รอบ

          และนี่ก็คือ 3 ท่าบริการแก้อาการหลังแอ่นที่เรามีมาฝากกันในวันนี้นะคะ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้มีอาการหลังแอ่นก็สามารถบริหารได้เช่นกันแต่หากมีอาการปวดหลัง ชาลงขาหรือมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นไม่ควรบริหารด้วยตนเอง หากบริหารแล้วเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรหยุดทันทีและรีบปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาให้เหมาะกับร่างกายของเราค่ะ

 

สามารถรับชมเรื่องราวสุขภาพได้ที่ Young @Heart Show

ตอน บริหารแก้หลังแอ่น ได้ที่นี่ค่ะ

Young@Heart Show