S.A.D. ภาวะซึมเศร้าเมื่อความหนาวมาเยือน

Share:

          เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ก็ส่งผลให้สภาพร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างกับสภาพจิตใจ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่เข้าสู่อากาศหนาว ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว เครียด เศร้า เหงา หรืออยากอยู่คนเดียว ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจบ่งบอกได้ว่า คุณกำลังเป็นโรค S.A.D. (Seasonal Affective Disorder) หรือภาวะซึมเศร้าเมื่อฤดูกาลเปลี่ยน โรคนี้จะอันตรายแค่ไหน Young @Heart Show จะพาไปทำความรู้จักกันค่ะ

ที่มา : pixabay.com

          สาเหตุของโรค S.A.D. นั้นทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่อาจจะมาจากช่วงเวลากลางวัน และ กลางคืน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตที่เป็นวงจรควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดทำให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งในคนกลุ่มเพศหญิง กลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติป่วยซึมเศร้า หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะเกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนได้

ที่มา : pixabay.com

          อาการของโรคนั้นมักแสดงอาการผิดปกติเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่จะมีอาการเป็นแค่บางช่วงบางเวลา หรือเป็นเฉพาะบางฤดูกาล สามารถสังเกตอาการได้จาก
– รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า หรือมีอารมณ์ซึมเศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน
– หมดความสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยสนใจ
– อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หมดความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ
– อยากนอนตลอดเวลา หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
– มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป
– ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน
– เก็บตัว ไม่ต้องการออกไปพบปะผู้อื่น
– หมกมุ่นกับเรื่องความตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย

          การรักษาภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

ที่มา : pixabay.com

– การรับประทานยา แพทย์จะจ่ายยาต้านซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการป่วย หรือรับประทานยาตั้งแต่ก่อนถึงช่วงฤดูที่ภาวะซึมเศร้าจะกำเริบเพื่อป้องกันอาการซึมเศร้า

ที่มา : pixabay.com

– การทำจิตบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างเหมาะสม

ที่มา : pixabay.com

– การบำบัดด้วยแสง แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสง ที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์วันละประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล แต่วิธีนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของการฉายแสงก่อนตัดสินใจ

ที่มา : pixabay.com

– ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปรับการใช้ชีวิตให้ผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ดี เพราะ อาหารบางอย่างช่วยต้านซึมเศร้าได้ ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ นั่งสมาธิ ฟังเพลง หรือหากิจกกรมที่สนใจมาทำซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ดี

          แม้โรค S.A.D.ยังไม่ทราบสาเหตุและวิธีป้องกันโรคที่แน่ชัดในการเกิดภาวะนี้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และผู้ที่เคยมีภาวะซึมเศร้าเมื่อฤดูการเปลี่ยนควรดูแลตัวเองให้ดี ทำตามคำแนะนำของจิตแพทย์ เพื่อความแข็งแรงของทางร่างกายและจิตใจ สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเผชิญอาการนี้อยู่หรือไม่ ให้ลองสังเกตอาการตัวเองหากพบข้อสงสัยหรือมีความกังวลใจ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาและคำแนะนำที่ถูกต้องค่ะ

 

ที่มา : พบแพทย์ , โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ , กรุงเทพธุรกิจ

Young@Heart Show