Quarter-life crisis l Midlife crisis วิกฤต 2 วัย เราจะผ่านไปได้ไหม ?

Share:

          วิกฤตวัยกลางคน ( Midlife crisis ) คงเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยกันดี สถานการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ก้าวสู่วัย 35 ปีขึ้นไป แต่รู้หรือไม่ว่าวิกฤตของคนวัย 25 ปี ก็มีเช่นกัน หรือที่เรียกว่าวิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต (Quarter-life crisis ) เรียกได้ว่าต่างวัย ต่างใจ ก็ต่างมีปัญหาแตกต่างกันไป จะรับมืออย่างไรให้ชีวิตผ่านไปได้อย่างดีไม่มีบาดแผลทางใจ เราจะก้าวไปเรียนรู้ทั้งสองวิกฤตนี้พร้อมๆกัน

ที่มา : pixabay.com

          มาเริ่มจาก วิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต (Quarter-life crisis) เมื่อชีวิตก้าวสู่วัย 25 ปี รู้ตัวอีกทีก็ไม่ใช่เด็กอีกต่อไปต้องเป็นผู้ใหญ่แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด จะใช้ชีวิตให้สนุกไปวันๆลองผิดลองถูกเหมือนเคยก็ไม่ได้เพราะชีวิตก้าวสู่โลกความจริง ทั้งที่ใจยังไม่อยากเผชิญ เมื่อเริ่มมาสำรวจชีวิตการงานเมื่อเพื่อนประสบความสำเร็จ เงินเดือน ตำแหน่งดีกว่า และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างเปลี่ยนเมื่อเพื่อนห่างหายหรือแต่งงาน แต่ตัวเรายังคงไม่ถึงไหน จนตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไม เราต้องการอะไรกันแน่ ไปสู่ความรู้สึกหวาดกลัว ผิดหวังที่ไม่เคยเจอมาก่อน จึงทำให้หลายคนต้องติดกับวิกฤตหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต

ที่มา : pixabay.com

          เราจะหาทางออกจากวิฤตครึ่งๆกลางๆนี้ได้อย่างไร อย่างแรกคือคุณต้องยอมรับว่ากำลังประสบปัญหานี้ เพราะไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่ต้องเจอยังมีคนร่วมวัยอีกมากมายที่เหมือนคุณ จากนั้นให้เริ่มหันมาให้เวลาสำรวจตัวเอง จดทุกอย่างที่เผชิญออกมา ทั้งความคาดหวังในเรื่องงาน ความสัมพันธ์ และการเงิน เพื่อสะท้อนตัวตน จากนั้นลองวิเคราะห์ว่าตรงไหนเป็นปัญหา ตรงไหนที่คุณยังไม่ได้มองหาความเป็นไปได้ เช่น เรียนจบอะไรมาต้องทำงานแบบนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ชอบหรือมีความสุข ก็อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นธรรมดาของโลกใบนี้ และคุณยังมีเวลาลองผิดลองถูก ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้ามากให้ลองลาพักร้อนดูสักหน่อยแล้วค่อยกลับมาสู่ใหม่อีกครั้ง แต่หากหัวใจดำดิ่งในความรู้สึกแย่จนตัวเองและคนรองข้างรับมือไม่ไหวก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือ

          ขณะที่วัยรุ่นสร้างตัวกลัวการเติบโต ผู้ใหญ่เองก็ต้องพบกับปัญหาวิกฤตวัยกลางคน( Midlife crisis ) ที่สับสน ไม่แพ้กัน ในวัย 35 – 50 ปี เมื่อเริ่มสำรวจตัวเองแล้วพบว่ายังไม่มีในสิ่งที่ต้องมีเงินทองยังไม่พอเกษียณ หน้าที่การงานยังไม่เติบโต และครอบครัวยังไม่มี ทั้งที่เวลาชีวิต อายุงานเหลืออีกไม่มาก สุขภาพก็ไม่ฟิตเหมือนแต่ก่อน แถมสังคมรอบข้างยังกดดัน ถูกลดบทบาทและความสำคัญจากคนรอบข้าง จนกลายเป็นความเครียด ความผิดหวัง หดหู่ ท้อแท้ ส่งผลต่อจิตใจและร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

ที่มา : pixabay.com

          ปัญหาที่ต้องทบทวนและหาทางออกก่อนที่จะป่วยใจไร้พลัง ขั้นแรกคุณต้องยอมรับว่าชีวิตกำลังพบวิกฤต จากนั้นเริ่มมาปรับวิธีคิด โดยเลิกเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับคนอื่นเพราะเราก็มีดีในแบบของเรา หากเกิดปัญหาให้มองหาคนใกล้ชิดคอยรับฟัง มองโลกในมุมบวก หาความสำเร็จเล็กในชีวิต อาจจะเริ่มต้นเรียนวาดภาพ เรียนภาษา หรือจะเรียนทำอาหารสร้างความรู้สึกมีคุณค่ากับตัวเอง อย่าละเลยในการออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะสุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ ส่วนเรื่องการเงินถ้าที่ผ่านมาไม่เคยวางแผนให้เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม มีเหตุผลไม่ใช่เพราะอารมณ์พาไป

ที่มา : pixabay.com

          ทั้งหมดนี้คือวิธีที่จะช่วยรับมือกับชีวิตในช่วงเสียสมดุลในสองช่วงวัย แต่อย่างไรก็ตามขอให้คุณรู้ไว้ว่าไม่ใช่แค่คุณเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังมีเพื่อนร่วมวัยอีกหลายคนที่เป็นเหมือนคุณ ขอเพียงตั้งรับอย่างมีสติ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่สุดท้ายเราจะผ่านมันไปได้ และกลายเป็นบทเรียนอันล้ำค่าของการเติบโต

 

 

 

 

ที่มา :

https://thestandard.co/midlife-crisis/
https://thestandard.co/podcast/knd759/
https://techsauce.co/connext/life-hacks/quarter-life-crisis-and-why-growing-up-to-be-adult-is-hard
https://www.sales100million.com/single-post/How-to-Deal-with-Midlife-Crisis-Problem/

 

Young@Heart Show